เมื่อผู้ใหญ่ เข้าใจเด็กไทย เปิดโอกาสร่วมเปลี่ยนสังคม
"สังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างเช่นปัจจุบัน ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเยาวชนเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่สอนแต่โรงเรียน"
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเพื่อคนไทย จัดงาน "เข้าใจ...เด็กไทยวันนี้ ร่วมเปลี่ยนอนาคตสังคม" ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
รศ.ประภาภัทร นิยม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสำหรับตัวเลขของผลงานวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 ระบุว่า 97% ของเยาวชน คิดว่า ตัวเองเด็กเกินไปที่จะแก้ปัญหาสังคมว่า จุดเริ่มต้นงานวิจัยชิ้นนี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่าเยาวชนแท้จริงแล้วมีบทบาทในสังคมมากกว่านี้ หากผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้มากขึ้น ถึงแม้ตัวเลขของเยาวชนในด้านตื่นรู้ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีนั้นยังจะมีไม่มากนัก แต่เชื่อว่ายังมีเด็กอีกมากที่มีความสามารถในการเข้ามีบทบาทมากขึ้น เพราะฉะนั้นถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้พูดคุยถึงวิธีแก้ไขปัญหาและหาวิธีร่วมกันในการสร้างสังคมให้เปลี่ยนแปลง ซึ่งเด็กในวันนี้ต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ไม่ใช่วันหน้า
“ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างเช่นปัจจุบันผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเยาวชนเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่สอนแต่โรงเรียน เป็นผู้รู้ดี หรือครูเป็นผู้รู้ดี แต่ว่าเยาวชนต้องเรียนรู้เองได้ด้วย เพราะว่าสื่อต่างๆ การเข้าถึงความรู้ในยุคนี้ไม่ยากแล้ว”รศ.ประภาภัทร กล่าว
รศ.ประภาภัทร กล่าวถึงกรณีของครอบครัว เป็นด่านแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนพูดคุย รวมทั้งให้เด็กลงมือทำ โดยที่ให้เผชิญกับปัญหา ซึ่งในส่วนนี้จะสร้างวิธีคิดและวิธีแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กและสร้างวุฒิภาวะทางหนึ่ง
"ขณะที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่สองเนื่องจากเด็กใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนมากกว่า 4 ชม/วัน และเรียนรู้หลายอย่างในนั้น แต่การสอนในยุคนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ได้ทดลองด้วยตนเองมากนัก ครูทำหน้าที่สอนหมดเวลาเรียนก็ปล่อย จึงทำให้เด็กไม่ได้ลงมือทำ ทำให้เด็กขาดความรู้ความเข้าใจ สุดท้ายสังคมในภาพรวม ต้องช่วยกันสร้างสื่อที่ดีมากกว่าสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ สื่อต้องสร้างจินตนาการให้ เพราะฉะนั้นสื่อสามารถสร้างคนและเป็นช่องทางหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กอย่างยิ่ง"
“ขณะนี้เป็นที่น่ายินดีว่า พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์กำลังจะคลอดแล้ว จะมีงบประมาณพอที่จะให้เด็กๆสร้างสื่อสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง”รศ.ประภาภัทร กล่าว
ด้านรศ.จุรี วิจิตรวาทการ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวย้ำถึงบทบาทของครอบครัวว่า การที่จะสร้างเด็กให้ดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ฐานะหรือระดับทางสังคมของพ่อแม่ แต่เป็นเรื่องของเวลาที่มีให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพ่อและแม่มมากกว่า ซึ่งเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก ดังนั้นการสร้างอุปนิสัยใจคอ ทัศนคติต่อชีวิตจะเกิดขึ้นในวัยเด็ก ทั้งนี้นโยบายในเชิงสังคมเกี่ยวกับการใช้สื่อที่ท้าทายที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายฝ่ายอยากจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่าเดิม
“ส่วนตัวเคยเสนอให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดอบรมก่อนการแต่งงงาน เพราะว่าหน้าที่ของพ่อแม่ ต่อการมีครอบครัวที่ดีจะเป็นอย่างไร พ่อแม่สำคัญกว่าสิ่งอื่นเพราะต้องเลี้ยงเด็กทั้งชีวิต จะได้สร้างครอบครัวสมบรูณ์มากขึ้น อีกทั้งโรงเรียนก็ต้องส่งเสริมเด็กเข้าใจเด็ก” รศ.จุรี กล่าว และว่า ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันณรงค์บทบาทของการเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดี ทำอย่างไรให้อบอุ่นมีการสื่อสารหลายทาง ครอบครัวเข้มแข็ง ถึงแม้บางครอบครัวจะรายได้น้อยแต่ ต้องสร้างความอบอุ่นและเข้มแข็ง
ขณะที่นางเข็มพร วิรุณราพันธุ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงสื่อในยุคนี้ว่า ปัจจุบันสื่อกลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อครอบครัวสูง โดยเฉพาะเยาวชนที่ใช่เวลากับสื่อมาก และมากกว่าครอบครัวด้วยซ้ำ ส่วนพ่อแม่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ จึงทำให้การสัมพันธ์กันของครอบครัวลดน้อยลง
"หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องอยู่ โดยในยุคนี้เป็นยุคที่เรียกว่า ยุคสื่อหลอมรวม มีทั้งคอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์มือถืออยู่ในสิ่งเดียวกัน ดังนั้นต้องช่วยกันสร้างสังคมให้รู้เท่าทันสื่อให้แก่เด็ก ครอบครัว โรงเรียน ร่วมกันสร้างสื่อสร้างสรรค์ ให้ตระหนักถึงการคิดวิเคราะห์ก่อนเชื่อสิ่งที่เห็นในสื่อยุคหลอมรวม"
ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) กล่าวถึงผลวิจัยที่ชี้ว่า เยาวชนไทย25% ยอมจ่ายสินบนเพื่อให้ได้ใบขับขี่โดยมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นนั้นเพราะว่าบริบทในสังคมไทยทำให้เด็กเชื่อ เนื่องจากอาจจะเคยเห็นพ่อแม่จ่ายสินบนมาก่อน หรือแม้กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ ก็ทำสิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นตัวอย่างเหล่านี้จึงมีอิทธิพลต่อความคิดของเด็ก
เมื่อถามว่า การทำงานรณรงค์เรื่องทุจริตที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้เลย ดร.มานะ กล่าวว่า การปลูกฝังจิตสำนึกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องทำให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง คือ เป็นแบบอย่างที่ดี ที่สำคัญเรายังสามารถสร้างให้เด็ก25% นี้ มีทัศนคติใหม่ได้ด้วยการสร้างให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้เขาเห็นว่าคอร์รัปชันไม่ดีอย่างไร
“ผมยังมีความหวังว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีทัศนคติที่ดีขึ้นถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเห็นความสำคัญและใส่ใจกับการแก้ปัญหา และในที่สุด25%นี้ก็จะหายไป การทำงานเรื่องรณรงค์ให้คนมีจิตสำนึกเป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลาขออย่างเดียวอย่าท้อ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันก็จะยังคงเดินหน้าไปเรื่อยๆ”