คำต่อคำ"วรพจน์"แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ล่ม-รู้ไหม"จม.น้อย" ในศาล ปค.ไม่ได้มีแค่ใบเดียว
“..พูดตรงๆ นะ ผมเอือมระอากับความขัดแย้งในนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความขัดแย้งที่ผมต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมอยากจะดึงตัวเองออกมาเสียที...คนที่จะตำหนิติเตียนคนที่ทำจดหมายน้อย น่าจะไม่ใช่คนที่เคยทำจดหมายน้อยมาก่อน ถ้าคนเคยทำมาก่อน แล้วไปติเตียนเขาหมายความว่าคุณก็ติเตียนตัวเองสิ เพราะฉะนั้น ผมว่าก่อนที่จะตำหนิคนอื่นเขา พิจารณาตัวเองซะก่อนดีไหม...”
จากกรณีที่กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ได้ออกแถลงการณ์ผลการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.57 ที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งเผยว่า นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ลาประชุม เช่นเดียวกับนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และ นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดที่ลาพักผ่อน ทำให้มีจำนวนกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่สามารถพิจารณาวาระการประชุมเรื่องผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีจดหมายน้อยของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุดได้
ล่าสุด นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงสาเหตุในการไม่เข้าร่วมวาระการประชุมที่มีเรื่องการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยฯ และข้อมูลอีกด้านของการแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2557 ที่ไม่ตรงกับวาระการประชุม ในวันที่ 19พ.ย.2557 อีกทั้งกรณีมติที่ประชุม ก.ศป. ที่อ้างในแถลงการณ์ ซึ่งนายวรพจน์ยืนยันว่ามีใจความสำคัญแตกต่างไปจากมติ ที่ ก.ศป เคยตกลงกันไว้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2557
นอกจากนี้ นายวรพจน์ยังยืนยันถึง จุดยืนและหลักการอย่างแข็งกร้าวว่า บางคนที่เคยทำจดหมายน้อยมาก่อนก็ไม่เหมาะจะทำหน้าที่ติเตียนผู้ที่ทำจดหมายน้อยครั้งนี้ แต่ควรปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยทำจดหมายน้อย เป็นผู้ติเตียนกรณีนี้จะเหมาะสมกว่า ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุด เท่าที่กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิรายนี้เอ่ยออกมา!
ขณะเดียวกัน "อิศรา" ยังสอบถามถึงการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอ้างถึงประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าจนถึงวันนี้ การพิจารณาล่าช้าเกินควรหรือไม่
@ : อะไรคือสาเหตที่ทำให้คุณไม่ร่วมวาระการประชุมพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยฯ ?
วรพจน์ : จุดยืนผมก็ คือ เมื่อการประชุมวันที่ 6 ส.ค. 2557 ท่านประธานการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีสอบข้อเท็จจริงเรื่องจดหมายน้อยฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่าผลการสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว และหารือว่า ก.ศป. จะพิจารณากัน เมื่อไหร่ดี
วันนั้นเองผมจำได้แม่น เพราะผมได้เสนอขึ้นมาเองว่า ผมไม่อยากให้ พวกเรา ก.ศป. 7 คนพิจารณาเรื่องนี้ เพราะผมอยากให้มี ก.ศป. เต็มองค์ประกอบ หรือถ้าไม่เต็มองค์ประกอบก็น่าจะต้องมี ก.ศป. ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 ท่าน และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 1 ท่าน
ผมบอกว่า เรา 7 คนไม่ควรทำ เพราะมันไม่สง่างาม ควรรอ ให้ ก.ศป. เต็มองค์ประกอบ ไม่เช่นนั้น จะไม่สง่างาม โดยเฉพาะในส่วนของ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เพื่อที่ท่านเหล่านั้นจะได้ประกันความโปร่งใสของเรา
เราชี้มูลไปทางไหนก็ตาม ท่านจะได้เป็นพยานได้ว่า เราไม่มุบมิบ รวมหัว กันเล่นงานประธาน แต่ว่ากันไปตามเนื้อผ้าจริงๆ ทุกคนก็เห็นด้วยกับผม
แล้วเขาก็ถามผมว่า ควรจะรอไปถึงเมื่อไหร่ มันรอไปอย่างไม่มีกำหนดเวลาไม่ได้ ผมก็เห็นด้วย ที่เรื่องนี้ กระบวนการเดินมาแล้ว มันต้องจบ ผมก็ขอให้รอไปจนถึงวันที่เราเห็นว่ามันไม่มีวี่แววแล้วว่า ก.ศป. จะครบองค์ประกอบ คือหมายถึงว่า เมื่อผู้มีอำนาจของบ้านเมืองหรือผู้มีอำนาจในสถาบันแห่งนี้ ปล่อยให้ สถานะ ก.ศป. ไม่แน่นอนอยู่อย่างนี้ในเวลานั้น ในที่ประชุม ครั้งนั้นก็ถามว่าเมื่อไรล่ะ ที่จะแสดงว่ามีวี่แววหรือไม่ที่ ก.ศป.จะเต็มองค์ประกอบ หรือมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
ผมก็ตอบว่า เดือนตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ก็น่าจะเห็นแล้วว่าจะมีวี่แววหรือไม่ ผมก็ตอบว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน ถ้าพฤศจิกายนไม่มีวี่แวว เรา 7 คน จะทำเรื่องนี้ นี่คือ ข้อตกตลงจริงๆ คือคุณจะจดมติ อย่างไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือข้อตกลงจริงๆ ในครั้งนั้น
ดังนั้น มติเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 เกี่ยวกับการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงกรณี ประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับจม.น้อย ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ มติดังกล่าวยังไม่ชัดเจนนัก เพราะที่ชัดเจนจริงๆ คือตามที่ผมได้เรียนให้ทราบว่าผมเสนออย่างไร
คราวนี้ เมื่อมาถึงเดือนพฤศจิกายน มันเห็นวี่แววแล้วนี่ครับว่าเป็นไปได้ที่ ก.ศป.จะเต็มองค์ประกอบ เพราะ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ผ่าน สนช.มาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ผมก็บอกเขาว่าเมื่อมีวี่แววอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรอ เพื่อความสง่างาม
เพราะว่าถ้าให้ทำตอนนี้ โดยที่ ก.ศป. ไม่เต็มองค์ประกอบ ผมทำไม่ได้ เพราะว่าถ้าผมไม่ต้องการให้ใครมาปฏิบัติ ต่อผมอย่างไร ผมก็จะไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบนั้น ไม่เช่นนั้น มันจะเป็นเหมือน ทีใครทีมัน แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้เมื่อไหร่ปัญหาความขัดแย้งจะหมด แล้วจะได้ลงมือทำงานกันสักที
พูดตรงๆ นะ ผมเอือมระอากับความขัดแย้งในนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความขัดแย้งที่ผมต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมอยากจะดึงตัวเองออกมาเสียที งานในหน้าที่เราก็เครียดมากพอ ยังต้องมาเครียดกับเรื่องความขัดแย้งไร้สาระ
คนที่จะตำหนิติเตียนคนที่ทำจดหมายน้อย น่าจะไม่ใช่คนที่เคยทำจดหมายน้อยมาก่อน ถ้าคนเคยทำมาก่อน แล้วไปติเตียนเขา หมายความว่าคุณก็ติเตียน ตัวเองสิ
เพราะฉะนั้น ผมว่า ก่อนที่จะตำหนิคนอื่นเขา พิจารณาตัวเองซะก่อนดีไหม ว่าตัวเองดีพอหรือยัง มันไม่สง่างามหรอก ถ้าคุณเคยทำ แล้วก็ไปติเตียนเขา คุณต้องอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้คนที่เขาไม่เคยทำจดหมายน้อยเป็นคนติเตียน แบบนั้นจึงสวย คุณอยากรู้ไหมว่า ในศาลปกครอง มีจดหมายน้อยกี่ใบ
เรื่องจดหมายน้อยนี่ เป็นเรื่องที่สมควรจะถูกติเตียนอย่างหนักด้วย ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำจดหมายน้อย จะต้องถูกติเตียนทั้งนั้น แต่ผู้ที่ติเตียน ไม่ควรจะเป็นผู้ที่เคยทำจดหมายน้อยมาก่อน เพราะมิฉะนั้น ก็เท่ากับติเตียนตัวเอง ควรปล่อยให้คนที่เขาไม่เคยทำเป็นผู้ติเตียน
และผมบอกได้ว่าจดหมายน้อยในศาลปกครองมีหลายใบ
@ : ตามกฎหมายหรือระเบียบข้าราชการตุลาการ ก.ศป. ที่เหลือ สามารถพิจารณากรณีจดหมายน้อย โดยไม่มีคุณเข้าร่วมประชุม ได้หรือไม่ ?
วรพจน์ : ทำได้ ถ้า 6 ท่านนี้ จะทำ โดยไม่มีผมเข้าร่วมก็ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยการนัดประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ 20 พ.ย. 2557 ถ้าการประชุมคราวใหม่ มีกรรมการที่มาประชุมใหม่ เพียง 5 คน คือ หนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดก็ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว แบบนี้เป็นไปตามมาตรา 79 วรรค ( 2 ) พรบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ซึ่ง ตุลาการ ศาลปกครองใช้กันอยู่ ทุกวี่ทุกวัน คงต้องให้ชี้แนะ
ผมไม่ได้ขวางอะไร หากจะว่าการที่ผมไม่เข้าประชุม ครั้งนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวางก็ไม่น่าจะถูก การที่ผมไม่เข้าประชุม ไม่ได้เป็น อุปสรรค ขัดขวางเรื่องนี้เลย จะว่า ผมเป็น อุปสรรค เรื่องนี้ ไม่น่าจะถูก เพราะท่านก็น่าจะสามารถใช้ มาตรา 79 วรรค ( 2 ) พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ได้อยู่แล้ว
@ : ถ้าภายใน 14 วัน นับจากนี้ ก.ศป. ที่เหลืออยู่ มีการพิจารณาเรื่องจดหมายน้อยฯ คุณรับได้ไหม ?
วรพจน์ : ผมรับได้ ผมไม่ขวาง แต่ผมไม่สนับสนุน เอาง่ายๆ ผมไม่ร่วม ผมอยู่เฉยๆ ผมจะเข้าร่วมทำเรื่องนี้ต่อเมื่อ ก.ศป. มีองค์ประกอบครบ เพราะฉะนั้น ผมจะไม่ชิงทำเรื่องนี้ในเวลานี้
@ ข้อเท็จจริง เรื่องวาระการประชุมวันที่ 19 พ.ย. 57 เป็นอย่างไร ?
วรพจน์ : ผมได้รับวาระการประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พ.ย. 57 มีแค่ 3 วาระนี้ ( แสดงวาระการประชุม ที่ได้รับแจ้ง แก่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ) ผมก็โทร ไปกราบเรียนท่านประธานที่ประชุม คือ ท่านชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุดว่า เราเรียนกันแล้วนะครับ ว่าเราจะสอบ ประธาน ในวันที่ 19 พ.ย. ต่อเมื่อเราเห็นว่าไม่มีวี่แววว่า ก.ศป.จะเต็มองค์ประกอบ แต่ตอนนี้มันมีวี่แววแล้ว ดังนั้น ถ้าวาระการประชุมมีแค่วาระ 3 เรื่องนี้ ผมขออนุญาตไม่เข้า แล้วเมื่ออยู่ต่อมา ถึงวันจันทร์ ที่ 17 พ.ย. วันอังคารที่ 18 พ.ย.แม้กระทั่ง เช้าวันพุธที่ 19 พ.ย. ผมก็ไม่เห็นมีวาระเพิ่มเติม ซึ่งโดยปกติเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เรื่องย้ายตุลาการ แต่งตั้งตุลาการไปศาล ปกครองเพชรบุรีที่จะทำคราวเดียวกับกับการเลื่อนและย้ายตุลาการ เดือนเมษานั้น ถ้าฝ่ายเลขานุการ จะนำเอาเรื่องนี้เข้าวาระการประชุมจริงๆ ก็น่าจะต้องมาแจ้งวาระเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีเอกสารประกอบ ซึ่งหากนำเข้าไปในการประชุมวันที่ 19 พ.ย. จริงโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ก็แทบจะอ่านไม่ทัน ถ้าแจ้งกันในวันพุธ ใครจะเตรียมอภิปรายทัน ผมจะรู้หรือว่าเขาจะเสนอเป็นวาระจรในที่ประชุม ใครเขาทำกันเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้
@ : หมายความว่า หากเมื่อวันที่ 14 พ.ย.มีการแจ้งวาระนี้ เป็นไปไม่ได้ ที่คุณจะไม่เข้าประชุมในวันที่ 19 พ.ย.?
วรพจน์ : คือจุดยืนผมนี่ ถ้ามีวาระนี้เข้าไปผมต้องเข้าประชุมแน่นอน แต่ผมก็ยืนยันในจุดยืนเช่นกันว่าผมจะเดินออกเมื่อถึงวาระพิจารณาผลประธานฯ กรณีจดหมายน้อย เพราะเรื่องศาลเพชรบุรีเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่ร่วมประชุมไม่ได้ เพราะผมใส่ใจเรื่องนี้
จากนั้น เมื่อถึงวาระเรื่องการพิจารณาผลสอบจดหมายน้อย หากผมเข้าร่วมประชุม ผมจะเดินออกเมื่อถึงการพิจารณาวาระนี้ เพราะจุดยืนผมคือผมทำอะไรก็ตามจะต้องถูกต้องตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และผลสุดท้าย ท่านอาจารย์ พุทธทาส สอนผมมาเช่นนี้ ไม่อย่างนั้น แม้เป็นสิ่งดีๆ ถ้าวิธีการผิดก็เป็นของเสียไปเลย
@ : แล้วคิดอย่างไร เมื่อการแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้าในวันที่ 14 พ.ย.ไม่มีเรื่องศาลปกครองเพชรบุรี แต่วันที่ 19 พ.ย.แถลงการณ์ที่ออกมา ระบุว่ามีวาระการประชุมเรื่องศาลปกครอง จ.เพชรบุรี ?
วรพจน์ : ก็เป็นไปได้ที่อาจจะเป็นความจริงตามที่เลขาฯแถลง แต่ผมว่า วาระสำคัญแบบนี้ ให้เสนอเดี๋ยวนั้น อภิปราย ลงมติเดี๋ยวนั้นก็ไม่สง่างามอยู่ดี เพราะการประชุมต้องอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล
การประชุมก็เหมือน อาจารย์เตรียมการสอน ผมเอง เคยปฏิเสธที่จะพิจารณาบางวาระ มาหลายครั้ง หากผมไม่ได้เตรียมตัวศึกษาเอกสารล่วงหน้า ผมปฏิเสธที่จะอภิปราย หากผมไม่ได้เตรียมตัว ซึ่งหากผมไม่มีโอกาสเตรียมตัวก็เป็นความผิดฝ่ายเลขาฯ เพราะกฎหมาย กำหนดให้แจ้ง วาระการประชุมล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อให้กรรมการที่เขาจะเข้าประชุมเตรียมตัวอภิปรายในวาระเหล่านั้น อย่างรอบด้าน เพื่อเป็นผลดีต่อที่ประชุม จะได้ถูกต้องตามวาระ ไม่ใช่ว่ายกมือโหวต โดยไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้เตรียมตัวศึกษาเอกสาร ซึ่งการยกมือโหวต ในที่ประชุม โดยไม่เตรียมตัวมาผมว่า มันน่าอาย กฎหมายกำหนดว่าเพื่อให้กรรมการได้ศึกษา วาระล่วงหน้า
เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น มติที่ประชุมจะไร้สาระทันทีหากขาดการอภิปรายอย่างรอบด้าน แต่วาระแจ้งเพื่อทราบเช่น เสนอในที่ประชุม “ว่าพรุ่งนี้ จะทำบุญตักบาตร ก.ศป. ท่านใดจะไปร่วมบ้าง” แบบนี้เสนอเป็นวาระจรได้
@ กรณีสังคมตั้งคำถาม ว่าผลสอบข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยมีความล่าช้า ?
วรพจน์ : ถ้าเป็นกรณี ปกติ หรือเมื่อมีการยึดอำนาจ แล้ว ก.ศป. ไม่เจอปัญหาเรื่องสถานะทางกฎหมาย จนถึงวันนี้ก็ถือว่าช้าไป และไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งสังคมควรตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าซูเอี๋ย หรือหมกเม็ดหรือเปล่า
แต่ความล่าช้าที่มันเกิดขึ้นนี้ หากคำนึงเรื่องปัจจัยแวดล้อมคือมีการยึดอำนาจ และทำให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และทำให้ มีคน ยกปัญหาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมาย ของ ก.ศป. ขึ้นมา กล่าวอ้าง เมื่อเกิดปัจจัยเหล่านี้ขึ้น ก็ไม่ถือว่าช้า หากเราต้องการความสง่างาม ในการพิจารณา แต่หาก คุณ ไม่คำนึงถึงความสง่างาม ก็อาจจะมองว่าช้า แม้มุ่งว่าผลถูกต้อง ชอบธรรม แต่วิธีการไม่เลือก ไม่คำนึงถึงวิธีการ ก็มองว่าช้า
@ คุณมองอย่างไร กรณีที่ประธานหัสวุฒิ หรือ รองประธานศาลปกครองคนที่หนึ่งลาการประชุม ?
วรพจน์ : คือประธานหัสวุฒิ เขาก็มีจุดยืนของเขา ว่า ก.ศป. ไม่มี สิ้นไปแล้ว พร้อมกับรัฐธรรมนูญ ท่านก็ไม่เข้า ซึ่งท่านไม่เข้ามาตั้งแต่มีรัฐประหาร ไม่ใช่ว่าไม่เข้าเมื่อวานครั้งแรก เขาก็มีจุดยืนคงที่ของเขา
ส่วน รองประธานศาลปกครองคนที่ 1 คือคุณเกษม คมสัตย์ธรรม จริงๆ ท่านเป็น ก.ศป. แต่ท่านลาออกไป ท่านลาออก เพราะฉะนั้นท่านเข้าประชุมในฐานะ ก.ศป. ไม่ได้ แต่เข้าเฉพาะในฐานะเป็นรองประธานปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด แต่วันนั้นจนถึงบัดนี้ ผมก็ยังไม่รู้เลย ว่าท่านเกษมลาด้วยกิจอะไร เพราะท่านก็ไม่ได้ลาไว้ก่อนหน้านี้ แล้วท่านก็ไม่ได้เข้าประชุม ก.ศป. ตั้งแต่วันที่ท่านได้มาลาออกแล้ว และผมก็ไม่เห็นว่าจะต้องคาดหวังอยู่แล้วว่าท่านจะเข้าประชุม
@ รู้สึกอย่างไร ที่แถลงการณ์ของ กศ.ป. เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ดูเหมือนชื่อคุณจะถูกผลักไปเป็นข้างเดียวกับประธานฯหัสวุฒิ และรองประธานคนที่หนึ่ง ?
วรพจน์ : ก็รู้สึกว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริง ( หัวเราะ ) ว่าผมไม่ได้เข้าประชุม แต่สาเหตุที่ผมไม่ได้เข้าก็เป็นไปตามจุดยืน ดังที่ผมได้เรียนไว้ข้างต้น ผมมีเหตุผลของผม ไม่ใช่ผมเกเร
….
ทั้งหมดนี้ คือคำตอบจากกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิรายนี้ ถึงที่มาของการไม่ร่วมพิจารณาวาระการประชุมกรณี "จดหมายน้อยฯ "ของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม จนกว่า ก.ศป. จะเต็มองค์ประกอบ โดยเน้นย้ำว่าเพื่อความสง่างามของผลการพิจารณากรณีดังกล่าวที่ควรต้องมีบุคคลภายนอกร่วมเป็นสักขีพยาน
ขณะเดียวกัน ก็ "โยนระเบิด" ลูกใหญ่ใส่ตุลาการศาลปกครอง กรณี "จดหมายน้อย" ฉบับอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากจดหมายน้อยของนายดิเรกฤทธิ์ ที่อ้างอิงนายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด!
( อ่านประกอบ : “วรพจน์” แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ทำวาระลงมติคดี จม.น้อย ล่ม-กลัวไม่สง่างาม )
( คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย )
ภาพประกอบจาก : www.prasong.com , เครือข่ายการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน