'บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์' ชูโมเดลเขียนกติกาในรธน.ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
"การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพสังคมไทยในอนาคต ที่คนในสังคมไทยตื่นรู้ ต้องการการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ"
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงภารกิจการร่างรัฐธรรมนูญ ในเวทีเสวนาเรื่อง "รวมพลังความคิดก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศไทย มิติการเมือง การบริหาร และกฎหมาย" ณ ห้องประชุมดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อาคาร 6 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งจัดผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้
ดร.บัณฑูร กล่าวถึงความน่าสนใจในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 (2) ที่ระบุ "ให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย" จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ขณะนี้สภาพสังคมไทยเป็นอย่างไร ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้เฉพาะปีนี้ เราจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรให้รองรับกับสภาพสังคมในวันข้างหน้า
"รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนกติกาและสร้างพลังพลเมืองภาคประชาชน นี่คือตัวอย่างของการเขียนกติกาในรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม" ดร.บัณฑูร กล่าว และว่า ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพสังคมไทยในอนาคต ที่คนในสังคมไทยตื่นรู้ ต้องการการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสายสปช. กล่าวถึงการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่ให้ระบบการเลือกตั้งส่วนหนึ่งมาจากสายอาชีพ ก็จะก่อให้เกิดการรวมตัวในกลุ่มอาชีพที่เข้มแข็งมากขึ้น เหมือนการรวมตัวเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย แต่ในภาคประชาชนยังไม่มีตัวแทน หรือองค์กรที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนจริงๆ
"หากรัฐธรรมนูญกำหนดทิศทางเป็นแบบนี้ การรวมกลุ่มของประชาชนจะชัดเจนมากขึ้น จะเกิดสภาแรงงาน สภาเกษตรกร และสภาชาวนา เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดสภาพสังคมในวันข้างหน้า เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิทางการเมือง การออกเสียงประชามติ การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ ทำได้แบบนี้ เชื่อว่า สภาพสังคมไทยในอนาคตเปลี่ยนแปลงอย่างมาก"
ดร.บัณฑูร กล่าวถึงการกำกับการใช้อำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะในส่วนของตัวนักการเมืองนั้น ในโครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นครั้งแรก มีโหมดว่าด้วย "ระบบผู้แทนที่ดีและระบบผู้นำการเมืองที่ดี" ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญ
"ส่วนการใช้อำนาจผ่านทางการบริหาร ผ่านช่องทางกรรมการชาติชุดต่างๆ ถือเป็นการใช้อำนาจอย่างแยบยล ไปกระทบต่อชีวิตผู้คนทุกมิติ เช่น คณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) คณะกรรมการนโยบายพลังงาน กรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ฯลฯ นี่คือกลเกมอำนาจที่ครั้งนี้เราปฏิรูปจริงจังเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล"ดร.บัณฑูร กล่าว และว่า ที่ผ่านมาการใช้อำนาจผ่านกรรมการต่างๆ เหล่านี้โดยนักการเมือง เป็นเหมือนกล่องดำ (black box) ที่ประชาชนไม่รู้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการตัดสินใจ และไม่รู้เลยว่า กรรมการต่างๆ แต่ละชุดนั้นใช้ข้อมูลหรือเหตุผลใดตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ รวมไปถึงการไปรับฟังความเห็นประชาชน จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีหลักประกันว่า การรับฟังที่จัดขึ้นข้อมูลหรือความเห็นภาคประชาชนได้ถูกวางบนโต๊ะเวลาตัดสินใจหรือไม่ นี่คือส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ในยุคนี้
ทั้งนี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การถอดถอน และการออกเสียงประชามติ ช่องทางเดียวคือ ต้องมีมติครม.เท่านั้น ในอนาคตอาจให้สิทธิพลเมืองเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ เข้าชื่อและเสนอความต้องการออกเสียงประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดหนึ่งประชาชนอาจขอเปิดพื้นที่ทำประชามติ นี่คือตัวอย่างการออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดรับกับสภาพสังคม