‘นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน’ นั่ง ปธ.สมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ เตรียมชง สปช.บัญญัติ ‘ข้าว’ ในรธน.
องค์กรชาวนามติเอกฉันท์เลือก ‘นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน’ นั่งประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาเเห่งประเทศไทยคนแรก เตรียมชง สปช.บัญญัติ ‘ข้าว’ ไว้ในรธน. ก่อนดันกม.กองทุนสวัสดิการชาวนา 'ระวี รุ่งเรือง' เผย 27 พ.ย. 57 เตรียมเเถลงข่าวทางการ
สืบเนื่องจากองค์กรชาวนา 5 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมเครือข่ายชาวนาไทย สมาคมชาวนาไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย และสมาคมชาวนาอีสาน มีแนวคิดรวมตัวเป็น สมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย เพื่อทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับชาวนาอย่างมีเอกภาพนั้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเลือก ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ แต่ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าตัว ด้วยสาเหตุมีภารกิจมาก จึงขอเป็นที่ปรึกษาฯ แทน
ล่าสุด วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยจากนายระวี รุ่งเรือง ประธานสมาคมเครือข่ายชาวนาไทยว่า องค์กรชาวนาได้มีการทาบทาม ‘นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน’ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ในฐานะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าวคนหนึ่งของประเทศ ด้วยคะเเนนเสียงเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ คนแรก
โดยจะมีการจัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลต่อไป แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องเอกสารของบางองค์กร ทำให้เกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นเร็ว ๆ นี้ พร้อมกันนี้ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งกำหนดการจะแจ้งให้ทราบต่อไป
“ทุกองค์กรต้องการรวมตัวกันเป็นหนึ่ง แต่ติดขัดตรงที่ผู้นำแต่ละคนยังขาดความพร้อมในการนำพาสมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ ไปสู่ความเข้มแข็ง ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเชิญผู้ใหญ่ในวงการข้าวมาเป็นผู้นำระยะเริ่มต้นแทน” ประธานสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย ระบุ
ด้านนายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงหน้าที่ภารกิจว่า นอกจากการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่องค์กรชาวนาแล้ว จะต้องธำรงไว้ซึ่งอาชีพทำนาให้อยู่คู่ประเทศ และส่งเสริมให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ได้ติดต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนับสนุนให้มีการบัญญัติเรื่องข้าวไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นให้เร่งออกกฎหมายลูกรองรับภายใน 2 ปี
โดยมีเนื้อหาสำคัญมุ่งเน้นการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสวัสดิการชาวนา พ.ศ. ... เพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคงเมื่อชาวนาเกษียณ เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นและข้าราชการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพราะเรื่องดังกล่าวล้วนเกี่ยวโยงสู่ปัญหาการจัดการที่ดินและอื่น ๆ ด้วย
“ข้อมูลหรือความคิดเห็นที่จะเสนอต่อภาคราชการและการเมืองจะต้องถูกต้อง มีเหตุมีผล อธิบายสังคมได้ และต้องพิจารณาให้ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ว่ารัฐมีความพร้อมในการดำเนินนโยบายหรือไม่” ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ กล่าว และระบุถึงความรู้สึกว่า ที่ผ่านมาชาวนาพูดเรื่องเดียวกัน แต่บางองค์กรมีการเรียกร้องตามความรู้สึก ไม่ยอมมองความสามารถของรัฐ ฉะนั้นจะเสนออะไรไปต้องดูความพร้อมและต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มิฉะนั้นภาคราชการก็ไม่รู้จะรับฟังจากใคร
นายนิพนธ์ ยังกล่าวถึงความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวว่า ไม่ต้องพูดถึงตัวเลขความเสียหายมหาศาล ซึ่งส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินต้องตั้งขึ้นเพื่อชำระหนี้สิน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อไป คือ จะจัดการอย่างไรให้เร็วที่สุดกับปริมาณข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ราว 18 ล้านตัน
“ผมเห็นพ้องกับข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้เร่งขายข้าวให้ราคาถูกและนำบางส่วนบริจาคให้แก่ผู้ยากจนของโลก โดยเฉพาะทวีปแอฟริกา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดดันเรื่องราคาข้าวถูกลง มิเช่นนั้น ผู้ซื้อต่างประเทศจะมองว่า ตราบใดที่ไทยยังมีข้าวในสต๊อกปริมาณมาก ท้ายที่สุดก็ต้องขาย เพราะเก็บไว้อาจเน่าเสีย จึงรอเวลาซื้อในราคาถูกดีกว่า”
ส่วนกรณีชาวนายังเรียกร้องโครงการรับจำนำข้าวอยู่นั้น ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาฯ กล่าวว่า ชาวนาทุกคนอยากได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง เพราะต้องยอมรับความจริงว่า โครงการดังกล่าวช่วยให้ชาวนาปลดหนี้ได้พอสมควร แต่ตามหลักการไม่คุ้มกับเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสียไป สมาพันธ์จึงต้องเร่งอธิบายให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น .
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:'อนันต์ ดาโลดม' ปฏิเสธนั่งเก้าอี้ปธ.สมาพันธ์ฯ ชาวนา เล็งเฟ้นคนใหม่