อึ้ง! เยาวชนไทย25% ยอมจ่ายซื้อใบขับขี่-มองทุจริตผิดเล็กน้อย
มูลนิธิเพื่อคนไทยเผยผลวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557:เสียงสะท้อนของเด็กสู่แรงบันดาลใจร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง พบเยาวชน 25% ยินดีจ่ายสินบนเพื่อให้ได้ใบขับขี่และมองพฤติกรรมการทุจริตเป็นความผิดเล็กน้อย
20 พฤศจิกายน 2557 มูลนิธิเพื่อคนไทยจัดงานสัมมนา "เข้าใจ...เด็กไทยวันนี้ ร่วมเปลี่ยนอนาคตสังคม" ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรมเดอะสุโกศล พญาไท
นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิ "เพื่อคนไทย" กล่าวถึงงานวิจัย "คนไทยมอนิเตอร์" ว่า เป็นกลไกการรับฟังเสียงสะท้อนคนไทยเพื่อให้สาธารณชนผู้สนใจสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในงานพัฒนาเยาวชน เพราะนั่นเท่ากับได้ช่วยสร้างอนาคตให้ประเทศชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นระบบการศึกษา ครอบครัว คุณธรรมและการมีส่วนของเยาวชน
ทั้งนี้งานวิจัยคนไทยมอนิเตอร์ 2557 ระบุว่า 97% ของเยาวชน คิดว่า ตัวเองเด็กเกินไปที่จะแก้ปัญหาสังคม ทั้งๆที่เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะช่วยสังคมได้ผ่านทางกิจกรรมสร้างสรรค์
ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวอีกว่า ผลวิจัยยังระบุ 3ใน4 ของเด็กไทยยังยึดโยงกับครอบครัวและให้ความสำคัญกับความกตัญญู นั่นเท่ากับว่าสังคมไทยยังมีความหวังในตัวเด็กและเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตัวเองและสังคม ซึ่งครอบครัวและสังคมต้องให้โอกาสและทำความเข้าใจโดยการยอมรับเด็กตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปเพื่อลดช่องว่างของทัศนคติด้านลบระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
ด้านนางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด ประธานสมาคมวิจัยโลก ESOMAR (ประเทศไทย) กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 4,000 คน จาก 21 จังหวัด พบว่า 25% เยาวชนยินดีจ่ายสินบนเพื่อให้สอบใบขับขี่ผ่านและมองการทุจริตเป็นความผิดเล็กน้อย
ด้านครอบครัวพบว่าครอบครัวเน้นปลูกฝังด้านการเรียนและพัฒนาตนเองมากกว่าความรับผิดชอบ ดังนั้นเยาวชน 90% ต้องประสบกับความเครียด ซึ่ง 78% เยาวชนเครียดกับเรื่องการเรียนและ 99% ให้คำนิยามของความสำเร็จว่าการได้ผลการเรียน หน้าที่การงานและเงินเดือนที่ดี คือความสำเร็จ
นางดารณี กล่าวด้วยว่า เยาวชนมีความเชื่อว่าตัวเองยังเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆและไม่ทราบว่าตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างไรถึง 97%
อีกทั้งในปัจจุบันสื่อออนไลน์ก็มีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวลดลง และที่สำคัญในเรื่องความเข้าใจเรื่องหน้าที่พลเมืองดีไม่มากนักโดย 90% ยังให้ความหมายของความดีเป็นเรื่องของน้ำใจเท่านั้น ดังนั้นความหมายของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมยังจำกัดในเรื่องใกล้ตัว ฉะนั้น จากผลการสำรวจเราจึงควรสร้างเยาวชนที่เป็นผู้รู้หน้าที่พลเมืองอย่างมีความรับผิดชอบ