ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด คุณหญิงจารุวรรณ -ศุภชัย โพธิ์สุ
ป.ป.ช.เปิดแถลงข่าว เรื่องกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และกรณีกล่าวหา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
วันนี้ (6 ก.ย.) คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดแถลงข่าว โดยมีเรื่องสำคัญ จำนวน 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก จัดสัมมนาโครงการ สตง. นความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” เป็นเท็จ โดยมีวัตถุประสงค์ นำบุคลากรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2546 ณ จังหวัดน่าน
ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก จัดสัมมนาโครงการ “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” เป็นเท็จ เนื่องจากแท้จริงแล้ว มีวัตถุประสงค์ที่จะนำบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ไปร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2546 ณ จังหวัดน่าน โดยมี ศาสตราจารย์ ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ นั้น
คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยรวบรวมพยานหลักฐาน และไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีหนังสือถึงกรมการศาสนา แสดงความประสงค์จะขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินประจำปี 2546 ไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา
ณ วัดพญาภู และวัดพระธาตุช้างค้ำ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง ...
ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2546 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2546 ซึ่งได้กำหนดในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู และวัดศรีพันต้น (วัดราษฎร์) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยคณะกรรมการดำเนินการมีนางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการ และมีนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นรองประธานกรรมการ โดยให้คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานกฐินพระราชทานดังกล่าว
รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องบรรลุวัตถุประสงค์
ต่อมา วันที่ 16 ตุลาคม 2546 สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการ ได้ขออนุมัติจัดโครงการสัมมนา เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ระหว่างเวลา 08.30 – 18.30 น. ณ โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนา จำนวน 175 คน วิทยากรโดยนายสันติภาพ
อินทรพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา และวิทยากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประมาณการค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 479,980 บาท และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงนามอนุมัติในวันเดียวกันคือ วันที่ 16 ตุลาคม 2546
ระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2546 นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ แจ้งว่า ได้มีการสำรวจรายชื่อผู้เข้าร่วมกฐินพระราชทาน ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่าย และค่าที่พักด้วยตนเอง มีจำนวน 100 คนเศษ และเมื่อรวมกับผู้บริหารอีก 30 คน ก็จะได้เพียง 130 คนเศษ จึงได้มีการหารือกันระหว่าง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส
ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการ-ตรวจเงินแผ่นดิน และนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นสมควรให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าร่วมพิธีกฐินพระราชทานก่อน เมื่อถวายผ้าพระกฐินพระราชทานเสร็จ จึงกลับมาสัมมนาที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค โดยรวมหัวข้อเช้าและบ่ายเข้าด้วยกัน เริ่มสัมมนาตั้งแต่เวลา 15.45 น. จนถึง 19.00 น. ซึ่งผู้เข้าร่วมหารือไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ผู้มีรายชื่อเข้าร่วมสัมมนาและผู้สังเกตการณ์เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศ และรถตู้ไปเข้าร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานตามกำหนดการถวายกฐินพระราชทานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ช่วงเช้า ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร รับประทานอาหารกลางวันที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ช่วงบ่าย
ณ วัดพญาภู และถวายกฐินสามัคคีของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ณ วัดศรีพันต้น งานการถวายกฐิน ...
งานการถวายกฐินพระราชทานแล้วเสร็จประมาณ 16.00 น. คณะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในที่พักและเดินทางไปยังสโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 เป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุม มีอาคารอยู่หนึ่งหลังมีลักษณะชั้นเดียว หลังคาเป็นระเบียงข้างอาคารมีสระว่ายน้ำอยู่หนึ่งสระ มีการตกแต่งไฟ มีเครื่องขยายเสียง มีการจัดเวทีเขียนป้าย
บนเวทีที่มิได้มีข้อความระบุว่ามีการสัมมนา แต่กลับมีข้อความว่า “ขอต้อนรับ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และคณะ ด้วยความรักยิ่ง 31 ตุลาคม 2546” มีการจัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีนหันหน้า เข้าหากัน แต่ละโต๊ะนั่งประมาณ 9 – 10 คน จัดอยู่ชั้นระเบียง และชั้นล่างรอบสระว่ายน้ำและพื้นที่โดยรอบ
เมื่อผู้เข้ารับการสัมมนามาถึงสโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 จะมีการลงทะเบียนในรายชื่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา เรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” วันที่ 31 ตุลาคม 2546 ระบุสถานที่ว่า โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลรับลงทะเบียนหน้าสถานที่จัดงาน ไม่มีการแจกเอกสารในการสัมมนา หรือการกำหนดกลุ่มให้ระดมความคิดเห็นแต่ประการใด
จากการไต่สวนฟังได้ว่าการจัดสัมมนาเรื่อง “สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ไม่มีการสรุปผลการสัมมนาในครั้งนี้เป็นเอกสารแต่อย่างใด โดยปกติการจัดสัมมนาหากมีการเปลี่ยนแปลงวิทยากร เทคนิคการนำเสนอ และสถานที่รวมทั้งงบประมาณจะต้องทำการเสนอขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงกับผู้มีอำนาจ
การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู จังหวัดน่านในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2546 และทราบกำหนดการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2546 แต่ยังมีการจัดโครงการสัมมนาในวันเวลาเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมงานกฐินพระราชทานเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มบุคคลผู้เข้าร่วมสัมมนา ย่อมเล็งเห็นได้ว่าไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนานำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยจัดโครงการสัมมนาเพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการได้ โดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2. นายคัมภีร์ สมใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล มีมูลความผิดทางวินัย ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็น
เจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
3. นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ในการจัดสัมมนาดังกล่าว พฤติการณ์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยังฟังไม่ได้ว่าได้ร่วมกระทำผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการทางวินัยกับนายคัมภีร์ สมใจ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ฟ้องคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และนายคัมภีร์ สมใจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97
2. เรื่องกล่าวหา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา นายศุภชัย โพธิ์สุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำการโน้มน้าวให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกอบรมของกรมพัฒนาที่ดิน ที่โรงแรมริมปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงคะแนนเลือกผู้สมัครสมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรของพรรคภูมิใจไทย โดยมี นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน
อนุกรรมการ นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายศุภชัย โพธิ์สุ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การกำกับดูแล และปฏิบัติราชการ รวมทั้ง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณ การเสนอเกี่ยวกับสวัสดิการและค่าตอบแทนหมอดินอาสาซึ่งเป็นภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2552 นายศุภชัย โพธิ์สุ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับเชิญจากกรมพัฒนาที่ดินให้ไปร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการ
“แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ดำเนินงานของประธานกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์เพื่อลดใช้สารเคมีทางการเกษตร” ณ โรงแรมริมปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากการทำพิธีเปิดการอบรมไปแล้ว นายศุภชัย โพธิ์สุ ได้รับเชิญขึ้นบนเวทีเพื่อพูดคุยกับผู้เข้ารับการอบรมในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในการพูดคุยกับผู้เข้ารับการอบรมนั้นได้ปราศรัยสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยเบอร์ 1 โดยบอกให้เลือกเบอร์ 1 หากเลือกเบอร์ 1 จะเป็นหน้าเป็นตาของสกลนคร และจะได้รับงบประมาณต่างๆ มากมาย หากเลือกเบอร์ 2 จะนั่งบังเสาเพราะไม่มีความสามารถอะไรเลย หากผู้สมัครของพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมอดินอาสาก็จะได้ค่าตอบแทนเหมือนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยใช้เวลาพูดประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
ซึ่งปรากฏว่า มีหมอดินอาสาที่เข้าร่วมอบรม ได้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสกลนคร โดยอ้างเหตุที่คัดค้านว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยสั่งการให้ดำเนินคดีอาญาแก่ นายศุภชัย โพธิ์สุ ตามมาตรา 57 ประกอบมาตรา 137 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของ นายศุภชัย โพธิ์สุ มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 57 ประกอบมาตรา 137 ฐานกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการจัดทำ ให้เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด ตามมาตรา 53 (1) ประกอบมาตรา 137 จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง
ทางการเมืองกับนายศุภชัย โพธิ์สุ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 70