แพร่คำสั่งตั้ง กพค.ใหม่ 9 คน “วิรัช ชินวินิจกุล” มีเงื่อนไข ให้ ก.ต.อนุมัติก่อน
ราชกิจจาฯแพร่คำสั่งแต่งตั้ง กพค.ใหม่ 9 คน แต่“วิรัช ชินวินิจกุล” มีเงื่อนไขให้มีผลตั้งแต่วันที่ ก.ต. อนุมัติเป็นต้นไป.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ประกาศ 17 พ.ย. 2557) เรื่องการแต่งตั้งกรรมกรผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (30 กรกฎาคม 2555 และ 28 สิงหาคม 2555) อนุมัติให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ จํานวน 9 คน ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2555 เป็นต้นไป และได้มีประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 นั้น
บัดนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวได้ดํารงตําแหน่งมาครบกําหนดสองปีตามวาระ ในวันที่ 6 กันยายน 2557 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 อนุมัติให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ดังนี้
1. นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 2. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 3. นายสุเจตน์ จันทรังษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 4. รองศาสตราจารย์เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ 5. นายธวัชชัย ยงกิตติกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร
6. นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความมั่นคงประเทศ 7. นายสันทัด สมชีวิตา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอุตสาหกรรม 9. นายประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ส่วนกรณีนายวิรัช ชินวินิจกุล ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการตุลาการอนุมัติเป็นต้นไป ซึ่งต้องไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
ประกาศ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายวิรัช เป็นรองประธานศาลฎีกา โดยการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งนายวิรัช เป็น กพค. นั้นสร้างความตกใจแก่ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะต้องนำเรื่องดังกล่าวขอความเห็นชอบจาก ก.ต. ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 59 (3) ที่ระบุว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในหน่วยงานของรัฐ ที่มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด โดย ก.ต. ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้วในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา (วันเดียวกับที่โปรดเกล้าฯ)
อ่านประกอบ :
ครม.ตั้งรองปธ.ศาลฎีกาเป็นกรรมการคดีพิเศษส่อขัด กม.-ก.ต.ยังไม่เห็นชอบ
"สราวุธ"ยัน"วิรัช"ปฏิบัติหน้าที่กพค.ไม่ได้จนกว่าก.ต.เห็นชอบ แม้มีมติครม.แล้ว
ไร้เงา"วิรัช"ประชุม กพค. "วิษณุ" แจงรอ ก.ต.ชี้ 17 พ.ย. -"สุวณา"งดให้ข่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิรัช จาก ASTVmanager