ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เปิดยุทธศาสตร์ “ท้าทายไทย” ท้าทายให้เกิดงานวิจัย
"กำลังหวังว่า เอกชน หรือคนรวยๆ แทนที่จะไปเสียภาษีมรดกก็ตั้งมูลนิธิในชื่อของท่าน และมูลนิธิเหล่านี้ก็สนับสนุนงานวิจัย จะได้เป็นวัฒนธรรมของการให้ เป็นประเทศแห่งการให้"
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2557 ทั้งนี้ในงานมีเสวนาพิเศษเรื่อง “ความคาดหวังของสังคมต่อศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีต่องานวิจัยของไทยว่า ในทุกๆรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการตอบสนองคำเรียกร้องของนักวิจัยเพิ่มขึ้น อีกทั้ง 5 ปีหลังนี้เริ่มมีนโยบายออกมาชัดเจนว่ารัฐฯ จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ 1-2% ของรายได้ประชาชาติ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้าน/ปี แต่ในขณะเดียวกันก็มีอุปสรรค คือ ความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลที่มีอายุสั้นลงทำให้งานวิจัยหรือนักวิจัยไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะที่เรียกว่าระยะเบื้องต้นหรือระยะที่2 ของการสนับสนุนการวิจัย ที่รัฐเห็นว่ามีความสำคัญ อีกทั้งตั้งเป้าหมายชัดเจนไว้ในด้านการสนับสนุนทุนวิจัย 1% ของ GDP ของประเทศ ภายใน 3-5 ปี ข้างหน้า ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีเพียง 0.3% ก็ตาม
รัฐคาดหวังว่าภาคต่างๆ ทั้งเอกชน และรัฐวิสาหกิจจะเข้ามาร่วมในการสนับสนุนการวิจัยในอนาคตด้วย
“ในระยะหลังการสนับสนุนไม่ใช่เป็นงบจากรัฐบาลเท่านั้น จากส่วนต่างๆ จากภาคเอกชนก็มีเข้ามา รัฐจึงคิดไว้ว่า 1% ที่กำหนดไว้จะไม่ใช่รัฐบาลหมดต้องมาจากภาคส่วนต่างๆด้วย 30%มาจากภาครัฐ 70% มาจากภาคเอกชน เพราะฉะนั้นในแง่นี้คือในแง่ของทั้งภาครัฐเองและเอกชนยังคงเป็นไปไม่ได้”รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ศ.ดร.ยงยุทธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อ 3-4 อาทิตย์ที่ผ่านมามีแนวนโยบายใหม่ที่จะต้องดำเนินการโดยมีมติจากคณะรัฐมนตรีให้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในเครือของรัฐทั้งหมดที่มีผลกำไรมาสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจำนวน 3% ของกำไรอย่างจริง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการระบุไว้ แต่เป็นการสนับสนุนการวิจัยในองค์กรนั้นๆแทน โดยนโยบายใหม่จึงกำหนดให้สนับสนุนหน่วยงานอื่น นอกเหนือจากขององค์กรหลัก
"ในเบื้องต้นได้เชิญคณะทำงานจาก สกว.และกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหน่วยงานที่มีความสนใจเข้าร่วม ทั้งนี้เพื่องานวิจัยเพื่อสังคมและมองไปข้างหน้า"
เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญรัฐบาลชุดนี้ต่อการผลักดันงานวิจัย ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ดีกว่า ครม.ชุดอื่นที่ผ่านมาเยอะ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสนใจในเชิงนี้
ยกตัวอย่างกรณีของญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจมาลงมาลงทุนในไทย แต่ไทยเร่งสร้างความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งมีงานวิจัยและพัฒนาผลผลิตด้วย ซึ่งต่างชาติได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นการศึกษาทางไกล โดยกำหนดให้ศึกษาการเตรียมสร้างดาวเทียมดวงใหม่แทนที่ดาวเทียมอันเก่าที่กำลังจะหมดอายุไปในไม่ช้านี้ เพื่อให้เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีการศึกษาที่ทัดเทียมกับคนในเมือง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำอีกว่า ในอดีตงานวิจัยในประเทศไทยเป็นงานวิจัยที่ให้ความสำคัญกับความรู้เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย และราชการเท่านั้น แต่ต่อมาหน่วยงานอื่นอย่าง สกว.ได้เป็นองค์กรอื่น นอกเหนือจากองค์กรดังกล่าวดำเนินการในเรื่องวิจัย อีกทั้ง สกว.ได้เปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการวิจัยไปอย่างสิ้นเชิง จากขั้นตอนที่ยุ่งยาก และมีทุนวิจัยน้อย ผันมามีความคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากขึ้น มีทั้งการนำงานวิจัยมาต่อยอดและสร้างงานวิจัยใหม่ๆขึ้นมา
ในตอนนี้รัฐมีการดำเนินการด้านวิจัยไปไหนทิศทางไหน รวมทั้งอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับงานวิจัยของไทย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เคยมีโอกาสไปดูงานวิจัยทั่วโลก ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีผลงานชื้นหนึ่งที่สนใจและคาดหวังว่าจะเกิดในประเทศไทย คือผลงานวิจัยในโครงการของต่างชาติ ที่ชื่อว่า grand challenge global health ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างการพัฒนานักวิทยาศาสตร์โดยการท้าทายให้แก้ไขปัญหาที่กำหนดไว้ โดยในขณะนั้นนักวิทยาศาสตร์เกิดความหึกเหิมที่จะแก้ไขปัญหาที่ระบุไว้ มีการแข่งขันกันทำให้ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครแก้ไขได้ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่มีการร่วมมือการ และแข่งขันสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อสังคม
“ในประเทศไทยเองผมจะนำมาปรับใช้โดยชื่อโครงการ “ท้าทายไทย” ว่าให้แก้ปัญหาอย่างนี้ได้ไหม อาจะเป็นเรื่องพลังงาน สุขภาพ เรื่องขายสินค้าเกษตร เป็นการท้าทายให้เกิดงานวิจัย แก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้ได้ จุดสำคัญคือรวมพลังกัน ถ้าเราสามารถมุ่งตรงไปได้ และที่สำคัญเราสามารถศึกษาจากต่างประเทศเพื่อนำไปปรับแก้”
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยต้องสร้างสังคมให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการให้ คือ ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ การสนับสนุนงานวิจัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และกำลังหวังว่าจากเอกชน หรือคนรวยๆ แทนที่จะไปเสียมรดกก็ตั้งมูลนิธิในชื่อของท่าน และมูลนิธิเหล่านี้ก็สนับสนุนงานวิจัย จะได้เป็นวัฒนธรรมของการให้ เป็นประเทศแห่งการให้