“หุ้นส่วน”เคเบิ้ลอึดอัด!“ซีทีเอช”ขาดทุนหนัก 3.2 พันล.-หนี้ 1.1 หมื่นล.
“ซีทีเอช”ผู้กำลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกขาดทุนหนัก 56 ปีเดียว 3.2 พันล้าน แบกหนี้ 1.1 หมื่นล้าน “หุ้นส่วน”อึดอัดยอดสมาชิกพลาดเป้า จากล้านราย เอาจริงได้แค่ 2 แสน กลุ่มเคเบิ้ลท้องถิ่นเคือง คาดปี 57 อ่วมแน่
บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตช่องรายการทีวี โดยขายให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกหรือเคเบิลท้องถิ่นนำไปเผยแพร่ให้แก่สมาชิกผู้รับชมในเขตพื้นที่ และเป็นผู้คว้าลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล พรีเมียร์ลีกอังกฤษ 3 ฤดูกาล ( ปี 2013-2016) 300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณหมื่นล้านบาท) โดยตั้งเป้าว่าจะมีรายได้กว่าหมื่นล้านบาทในปี 2558 หรือราวต้นปี 2559 นั้นปรากฏว่า ตัวเลขผลประกอบการปี 2556 ขาดทุนสุทธิกว่า 3.2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากงบการเงิน บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ปี 2556 รายได้ 859,742,446 บาท (เฉพาะรายได้จากการขายและบริการจำนวน 852,092,960 บาท) ขาดทุนสุทธิ 3,279,572,495 บาท มีสินทรัพย์ 8,889,499,412 บาท หนี้สิน 11,671,462,797 บาท (เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 4,926,658,887 บาท) ขาดทุนสะสม 3,581,963,385 บาท
บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ทุนปัจจุบัน 3,000 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 96/1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มีผู้ถือหุ้น 25 ราย นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล และ นาย วิชัย ทองแตง ถือหุ้นใหญ่ คนละ 25 ล้านหุ้น (คนละ 31.25%) นางไพเราะ ซีประเปสริฐ 7,470,000 หุ้น (9.33%) น.ส. กณานุช เล็กวิจิตร 5,230,100 หุ้น (6.53%) นายอำนาจ วงศ์สุวรรณ 3,400,000หุ้น (4.25%) ที่เหลือเป็นรายย่อย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ซีทีเอชมีแผนการบริหารพรีเมียร์ลีกในช่วง 3 ปี จะมีรายได้หลักจากสมาชิกรายเดือน จัดทำแพ็คเกจเดือนละ 300 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 500 บาท สำหรับการรับชมครบทั้ง 380 แมทช์ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการให้ ซับไลเซ่นกับผู้ประกอบการในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สนใจ ในลักษณะแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ให้กับผู้ซื้อสิทธิต่อโดยที่ซีทีเอช จะไม่ถ่ายทอดสดคู่การแข่งขันดังกล่าว แต่รูปแบบการให้สิทธิต่อไม่ว่าจะกรณีใดๆ จะต้องให้พรีเมียร์ลีกเห็นชอบก่อน และมีบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ในลาว และกัมพูชา ซึ่งจะมีการเจรจากับผู้ประกอบการฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวีในทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวเพื่อขายสิทธิต่อ หรือการบริหารลิขสิทธิ์ร่วมกัน เป้าหมายเมื่อจบ 3 ปีในปี 2558 หรือราวต้นปี 2559 ซีทีเอช ต้องพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท ซีทีเอช เปิดเผย สำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุหลักที่บริษัทขาดทุนเนื่องจากการหาสมาชิกผ่านเคเบิ้ลไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากที่ตั้งเป้าว่าจะได้ 1 ล้านราย แต่หาได้เพียง 2 แสนราย มีลูกค้าที่ดูผ่านจานดาวเทียมต่างๆอีกประมาณ 1 แสนราย ขณะที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาล เช่น ค่าซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสูงถึง 9,000 ล้านบาท(เฉลี่ยต้นทุนปีละ 3,000 ล้าน) ค่าลงทุนอุปกรณ์ต่างๆรวมแล้วกว่าหมื่นล้านบาท และ ต้องกู้เงินจากธนาคารวงเงิน 14,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วงแรกทางบริษัทตั้งเป้าที่จะดึงกลุ่มเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นเข้าร่วมถือหุ้นและใช้เป็นช่องทางในการขายกล่องสมาชิก แต่ปรากฏว่า ในระหว่างการเจรจาทำให้กลุ่มเคเบิ้ลท้องถิ่นไม่พอใจเงื่อนไขเลยมีผู้เข้าร่วมเพียง 50% การหาสมาชิกจึงมีปัญหา นอกจากนั้นยังมีปัญหาการบริหารจัดการ เช่น การไม่สามารถจัดเก็บค่าสมาชิกได้ การแบ่งผลประโยชน์ค่าสมาชิกกับเคเบิ้ลท้องถิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ถึงขั้นมีการส่งข้อความทางโทรศัพท์บอกว่าจะยุติการเป็นสมาชิกกับลูกค้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางบริษัทพยายามหาทางหารายได้เพิ่มโดยการหาสมาชิกผ่านระบบโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต(IPTV), สมาร์ทโฟน รวมถึงการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลคู่สำคัญให้โทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่า ปี 2557 ตัวเลขการขาดทุนอาจจะสูงกว่าปี 2556
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ได้จับมือร่วมกับ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรายใหญ่บุกตลาดการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ควบคู่ไปกับการให้บริการเพย์ทีวี (PAY TV) เฟสแรกที่ร่วมมือกับพันธมิตร เช่น บริษัท ซีทีเอชธนบุรี จำกัด (กรุงเทพฯ)บริษัท แมคเวิลด์ เน็ตเวิร์ค (กรุงเทพฯ) ห้างหุ้นส่วนจำกัด พัณณ์ฐกฤต เคเบิลทีวี (ปทุมธานี) ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินทิวาธานี เคเบิลทีวี (อยุธยา) บริษัท ซีทีเอชนครราชสีมา จำกัด (นครราชสีมา) ใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท
หมายเหตุ : ภาพประกอบ bangkokvoice.com