โฆษก อสส.”วันชัย” ตอบข้อสงสัย ใบสั่งการเมือง - ทำงานร่วม ป.ป.ช.
"เวลาทางอัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ของพยานหลักฐาน ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้ว่าไม่ทุจริต เพียงแต่บอกว่าพยานหลักฐานยังไม่พอที่จะนำสืบให้ผู้พิพากษาเห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างนั้นจริง ฉะนั้นหาหลักฐานมาเพิ่มเติมหน่อยจะดีกว่าไหม"
ช่วงหลังมานี้ ภาพลักษณ์สำนักงานอัยการสูงสุดในสายตาประชาชนไม่ค่อยสู้ดีนัก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพิจารณาคดีค้านสายตาสังคม เล่นพรรคเล่นพวก หนักกว่านั้นคือถูกมองว่า ทำตามใบสั่งทางการเมือง?
“วันชัย รุจนวงศ์” อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตอบทุกคำถามผ่าน “สำนักข่าวอิศรา” ดังนี้
……………
@ ปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาคดีสำคัญไปมากน้อยแค่ไหน ผลเป็นอย่างไรบ้าง
เยอะมากเลยนะ อย่างคดีล่าสุดที่แถลงไปแล้วคือคดีไร่ส้ม ก็มีความเห็นว่าพยานหลักฐานพอฟ้องแล้ว พอที่จะพิสูจน์ในศาล จึงมีความเห็นว่าสั่งฟ้องได้
@ กรณี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ จำเลยคดีร่วมกันอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี ยื่นหนังสือถึง อสส. ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีนางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 ซื้อตั๋วให้ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ผู้ต้องหา หนีออกนอกประเทศ เรื่องไปถึงไหนแล้วครับ
กรณีนี้ผมไม่ได้ตามเรื่อง เลยไม่ทราบว่าอยู่ในชั้นไหน คือ โฆษกคงไม่ได้รู้ทุกอย่าง รู้เท่าที่เขาบอกและให้ข้อมูลมาแถลงข่าว เหมือนหลายเรื่องเราไม่ได้เข้าไปเป็นคณะทำงาน ฉะนั้นตื้นลึกหนาบางเราไม่รู้หรอก จะรู้ก็ต่อเมื่อเขาทำงานกันจนจบ
เช่น คดีไร่ส้ม มีความเห็นสั่งฟ้อง ช่วยแถลงให้หน่อย แต่เนื้อหาคดีไม่ได้รู้ทุกเรื่อง บางทีนักข่าวโทรมาถาม ผมก็บอกว่าต้องไปหาข้อมูลก่อน เพราะการเป็นโฆษกสำนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับคดีมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะมาก
เราแถลงได้แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้เสียรูปคดี หรือไม่ก็แถลงกรณีมีความเข้าใจผิดในเรื่องกระบวนการ เช่น บางคดีอัยการยังสั่งฟ้องไม่ได้ หรือเรื่องการทำหน้าที่ร่วมกับป.ป.ช.
@ การทำหน้าที่ร่วมกับป.ป.ช. หมายถึงคดีจำนำข้าวรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์
ผมหมายถึงทุกเรื่อง การทุจริตหรือไม่ทุจริตเป็นเรื่องเรื่องของป.ป.ช.ที่จะชี้ แต่พยานหลักฐานจะพอพิสูจน์ในศาลหรือไม่เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ ไม่ได้โต้แย้งกันนะ แต่อัยการไม่มีหน้าที่ไปชี้ว่าทุจริตหรือไม่ เพียงแต่บอกว่าพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ไหม
ฉะนั้น ก็นำความชำนาญของทั้ง2ฝ่ายมารวมกัน ป.ป.ช.ก็มีความชำนาญในการมองเรื่องทุจริตหรือไม่ทุจริต ส่วนอัยการมีความชำนาญในเรื่องการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทำอย่างไรที่จะพิสูจน์ให้ปรากฏในศาลได้
เวลาทางอัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ของพยานหลักฐาน ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้ว่าไม่ทุจริต เพียงแต่บอกว่าพยานหลักฐานยังไม่พอที่จะนำสืบให้ผู้พิพากษาเห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างนั้นจริง ฉะนั้นหาหลักฐานมาเพิ่มเติมหน่อยจะดีกว่าไหม
@ ไม่ได้ขัดแย้งกับป.ป.ช.
ไม่ได้ขัดแย้งกันหรอก เพียงแต่อาจจะเห็นต่างกัน ฝั่งหนึ่งบอกว่าหลักฐานน่าจะพอแล้วนี่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าใครมีหน้าที่อะไร ป.ป.ช.มีหน้าที่ชี้ว่าทุจริตหรือไม่ เราก็ไม่มีสิทธิ์จะไปบอกว่าไม่ทุจริตนะ แต่เมื่อท่านชี้ว่าทุจริตแล้ว จะพิสูจน์อย่างไร อันนั้นคนละด้านกัน หน้าที่คนละส่วนกัน เพราะต่างคนต่างมีความชำนาญคนละด้าน ที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพราะให้นำความชำนาญทั้ง2ฝ่ายมารวมกัน เพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ที่สุด
แต่หน้าที่ของโฆษกนอกจากจะแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องกระบวนการแล้ว โฆษกจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรายละเอียดของคดีได้เพราะแต่ละคดี เจ้าของสำนวนหรือผู้ตรวจสำนวนเขาจะเป็นคนดูรายละเอียด เราจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปรู้ตรงนั้น แต่ถ้าพิจารณาเสร็จ ได้ผลมาแล้ว เราจะแถลง
ผมยกตัวอย่างคดีเกาะเต่า เราก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ แต่ถ้ามีใครสนใจ ประชาชนสนใจ เราก็แถลงขั้นตอน ได้แค่นั้น แต่สั่งสอบเรื่องอะไร เรายังบอกไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดในคดี เรื่องของพยานหลักฐานเราจะต้องระวัง ไม่ไปยุ่งกับดุลพินิจในการสั่งคดีหรือการทำคดี นี่คือหลักประกันของความเป็นอิสระ
@ หนักใจหรือเปล่า ในฐานะคนสื่อสารในประเด็นที่สังคมตรวจสอบ สงสัย
ไม่หนักใจ เพราะเรายึดหน้าที่ ทำงานให้ดีที่สุด เราต้องไม่เอนเอียง ต้องเป็นกลาง ต้องยึดหลักความยุติธรรม ทำอะไรก็ตามจะต้องเป็นไปตามหลักการนั่นคือ เป็นไปตามพยานหลักฐาน ถ้าหลักเรามั่นคง ก็ไม่ต้องไปห่วงอะไรมาก เพราะปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย กระแสมันแรงขึ้น บางทีสังคมก็ว่ากันไป เชื่อกันไปหมดแล้ว แต่จริงๆในหลักฐานเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราก็บอกไม่ได้
นี่เป็นประสบการณ์ผมสมัยยังทำคดีอยู่ บางคดีอยู่ในมือเรา เราอ่านละเอียด แต่คนละเรื่องกับที่หนังสือพิมพ์ไปลงเลย ก็งงว่าเอาข่าวมาจากไหน บางครั้งข่าวที่ออกไปข้างนอกเป็นข้อมูลจริงส่วนหนึ่งไปบวกกับจินตนาการ บวกกับความเชื่อ ความคิด ทำให้ผันแปรไปจากข้อเท็จจริงเยอะ
ฉะนั้นเราไปตามกระแสไม่ได้ หลักเราต้องมั่น ต้องให้ความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน แล้วต้องยึดหลักพยานหลักฐานประกอบข้อเท็จจริงพร้อมด้วยเหตุผล แต่หน้าที่เราก็คือ ต้องหาออกมาให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ มีพยานหลักฐานอะไรที่ทำให้เห็นว่า ในวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เพื่อจะได้สั่งคดีไม่ผิด
เรื่องกระแส เราถูกสอนมาว่าอย่าไปฟัง เราฟังกระแสไม่ได้ แต่เราก็เข้าใจกระแสเหมือนกัน หากมีกระแสแรงแสดงว่าประชาชนสนใจ เราก็อาจจะต้องชี้แจงเป็นครั้งคราวเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลงไปในรายละเอียดของคดี จนกว่าคดีนั้นจะมีการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องหรือคดีถึงที่สุด
แต่ในระหว่างทางเราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในรายละเอียดสำนวนไม่ได้เลย แต่ถ้าหลักชัด ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำข่าวคดี เราไม่ควรทำเชิงรุก เพราะการทำคดีอาญาไม่ใช่เรื่องที่ควรจะทำประชาสัมพันธ์ แต่เราพยายามไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในกระบวนการหรือขั้นตอน
ผมไม่หนักใจ ถ้าหลักการชัดเจน หรือเรื่องที่ประชาชนต้องรู้ เราแถลง แต่ต้องรู้ในสิ่งที่ถูกต้องและต้องไม่เป็นการก้าวก่ายหรือทำให้เสียรูปคดี
@ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกมองว่าสำนักงานอัยการมีการเมืองมาพัวพัน
เรื่องนี้มีมาเป็น100 ปีแล้ว เพราะการเป็นคนตัดสินว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง มีทั้งคนได้คนเสีย ไม่มีทางทำให้พอใจได้ทุกฝ่าย ซึ่งเป็นความรู้สึก ใครๆก็รู้สึกได้ แต่ปัญหาคือเรารู้ตัวเราเองว่าทำตรงไปตรงมา ทำตามพยานหลักฐาน ทำภายในหรอบอำนาจหน้าที่ เช่น ความผิดเยอะแยะ ถ้าไม่มีคนมาแจ้งความ ไม่ส่งสำนวนมา ก็เข้าไปยุ่งไม่ได้
ดังนั้น สำนวนที่ส่งมา ใครจะว่ายังไงก็ตาม กระแสจะว่ายังไงก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าหลักต้องแม่น 1. ว่าตามกฎหมาย 2.ว่าตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง แล้วเราถูกฝึกมาว่า เราไม่เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเข้าใจเรื่องทั้งหมด และเห็นว่าสมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าลักควายตอนตี3 ในคืนเดือนมืด แล้วมีพยานไปหาปลาอยู่ห่าง 5 เมตร เห็นหลังจำหน้าคนลักควายได้ เฮ้ย! อย่างนี้ไม่สมเหตุสมผลแล้วล่ะ ซึ่งไม่ใช่ แต่ต้องหาพยานอื่นมาเพิ่ม
กรณีอย่างนี้ ถ้ายังไม่ชัดเราก็ต้องหามาให้ได้ เว้นแต่ว่าหาไม่ได้จริงๆ พนักงานสอบสวนบอกว่าไม่มีพยานหลักฐานอื่นแล้ว ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่เราต้องแยกตัวออกมา แน่นอนว่าเรารู้ความรู้สึกของคู่คดีทั้ง 2 ด้าน แต่เมื่อรู้แล้วต้องยกตัวเองออกมา ดูเหมือนเป็นหนัง เป็นละคร แล้วหาให้ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แล้วสั่งไปตามนั้น
@ ไม่ต้องมานั่งแก้เรื่องภาพลักษณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
ผมคิดว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าเรามั่นใจว่าเรานิ่งนะ ก็จะเห็นเองว่าคดีนี้ทำไมฟ้องแบบนี้ อีกคดีกลับมาฟ้องแบบนี้ นานๆไปก็จะเห็นเองว่าเราทำตามกฎหมาย
เราจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีใดคดีหนึ่งต้องอธิบายได้ว่าเพราะอะไร หมายความว่าจะสั่งอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ท่านต้องอธิบายได้อย่างมีเหตุมีผลและเป็นที่น่าเชื่อถือ มีหลักกฎหมายชัดเจน
สังเกตดูสิ เวลาเราชี้แจงไป ไม่ใช่เรารู้กฎหมายอยู่ฝ่ายเดียวนะ มีคนเยอะแยะในสังคม ถ้าเขาเห็นข้อกฎหมายโดยไม่มีอคติ ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าจริงมีเหตุมีผล ความเห็นอาจจะต่างกันได้ แต่ว่าหลักกฎหมายยันกันอยู่ไหม เรายืนตามหลักกฎหมาย แล้วก็การสั่ง เราจะรู้อยู่ว่าเราสั่งโดยสุจริตหรือไม่ ถ้าสั่งโดยใจสุจริตก็ไม่ต้องกลัวอะไร เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง
แต่หากเราไม่วางตัวเป็นกลางก็อันตรายกับสำนักงานอัยการ ฉะนั้น หน้าที่เราต้องวางตัวเป็นกลาง ชี้ถูกชี้ผิด อาจจะไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดแบบศาล แต่ว่าเป็นคนที่ชี้ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง
@ กระนั้นก็ตาม ก่อนหน้านี้ อัยการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าพิจารณาคดีค้านสายตาสังคม เช่น การไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีการขายหุ้นของคุณบรรณพจน์-คุณหญิงพจมาน(ดามาพงศ์)มูลค่า 738 ล้านบาท ทั้งที่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ตัดสินแตกต่างกัน จนถูกมองว่ามีใบสั่งจากนักการเมือง
คดีคุณบรรณพจน์ ผมไม่รู้เรื่องจริงๆเพราะว่าผมเพิ่งมาเป็นโฆษก แต่ถามว่าใบสั่งการเมืองมีผลมากที่สุดคืออะไร โยกย้ายตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ทุกกระทรวงมีหมด ถามว่าสำนักงานอัยการกับศาลมีไหม มีใครสักคนกล้าฝากใครมาเป็นอัยการหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ผ่านข้อสอบ แล้วข้อสอบก็ไม่มีใครรู้ก่อน
หรือหากมีการแต่งตั้งโยกย้าย ก็มีอาวุโสกำกับ แล้วต้องตรวจสอบโดยก.อ. ฉะนั้นการเมืองเข้ามายุ่ง ยากมาก นี่เป็นวัฒนธรรมที่ทำมาเป็น100 ปี การเมืองเขาก็รู้ ไม่ค่อยมีใครมายุ่งหรอก
@ แล้วกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อัยการไม่ควรไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอัยการชั้นผู้ใหญ่ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีแนวทางแก้ไขอย่างไร
เรื่องนี้มี 2 แบบ มี 2ความเห็น ความเห็นหนึ่งว่าอัยการไม่ควรเป็น เขาก็มีเหตุผลอยู่ชุดหนึ่ง ซึ่งผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับเขา
แต่ในอีกแง่หนึ่งถามว่า รัฐวิสาหกิจเป็นส่วนหนึ่งของราชการไหม แล้วผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจคือผลประโยชน์ของรัฐหรือเปล่า
ถ้าอัยการไม่เข้าไปเป็นกรรมการ รัฐวิสาหกิจก็ต้องไปจ้างนักกฎหมายซึ่งจะต้องแพงมาก แล้วก็ไม่แน่ใจว่าทนายถูกฝึกมาให้รักษาผลประโยชน์ของทางราชการเหมือนอัยการหรือไม่
เราถูกสอนมาให้รักษาผลประโยชน์ของรัฐมาตั้งแต่เด็กๆจนกระทั่งฝังเข้าไปในสมอง ฉะนั้นถามว่า รัฐวิสาหกิจต่างๆ นอกจากจะต้องทำสัญญากับภาคเอกชนในประเทศหรือต่างประเทศ การใช้อัยการประหยัดกว่าหรือไม่ ในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
ก็ไปลดค่าตอบแทนได้ไหม จริงๆถ้าไปประชุมทีนึง 2 พันบาท จะมีใครโวยไหม โบนัสปีละ2หมื่น คงไม่มีใครโวยหรอก แต่ถามว่าท่านต้องไปจ้างทนายปีนึง 20 ล้าน อยู่ไหม
เช่น รัฐวิสาหกิจบางแห่ง โบนัสปีละล้านเราก็มองว่าเยอะ แต่หากไม่มีนักกฎหมายเข้าไป ไปจ้างสำนักงานทนายความ ท่านคิดว่าจะต้องใช้เงินปีละเท่าไหร่ คือ ผมไม่มีความเห็นนะ แต่ถอนตัวมาก็ดี ไม่ต้องเป็นเลยก็ได้ เพราะในจำนวนอัยการทั้งหมด3,000กว่าคน มีไม่ถึง30 คน ที่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ
@ แต่เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน บทบาทขัดกันหรือเปล่า ควรเป็นหรือเปล่า
ก็มีเหตุผลอยู่ 2 ชุด ถ้าไม่เป็นก็ต้องไปจ้างทนายอยู่ดี ก็แล้วแต่ สมัยก่อนก็มีเหตุผลว่ามีนักกฎหมายของรัฐอยู่แล้ว ทำไมไม่ใช้นักกฏหมายของรัฐล่ะ เบี้ยประชุมไม่พอ ค่าน้ำมันรถด้วยซ้ำไป ก็ทำมาเป็น100 ปี ฉะนั้นเป็นประโยชน์ทับซ้อนไหม ก็แล้วแต่ว่าจะมองจากมุมไหน
@ อีดอัดใจหรือเปล่าเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงที่สังคมไทยเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่
ไม่ครับ แต่สังคมตอนนี้อยู่ยากเพราะเป็นสังคมแบ่งขั้ว นอกจากแบ่งขั้วแล้วไม่ฟังเหตุผลอีกฝ่ายหนึ่งเลย ฟังแต่ว่าความเห็นพวกนี้เป็นพวกเราหรือเปล่า สอดคล้องกับความเชื่อของเราหรือเปล่า ฉะนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้หรอก
แต่สิ่งที่เราต้องยึดไว้คือหลัก อย่างที่ผมบอก ถ้าหลักเราเรานิ่ง ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ท่านจะฟังไม่ฟังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสังคมไม่ได้มีอยู่2พวกนะ แต่มีพวก silent majority เยอะมาก ถ้าไม่ถูกด้วยเหตุผล ไม่ชอบด้วยเหตุผล พวกนี้โวยแน่ แล้วก็เป็นกลุ่มใหญ่กว่า2กลุ่มนั้นอีก และที่สำคัญที่สุดคือเหตุผล ถ้าเรามีหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน ไม่ค่อยมีปัญหา ไม่น่าหนักใจ