ประโยชน์ทับซ้อนปัญหาใหญ่ทุจริต-ป.ป.ช.เสนอฟ้องคดีเองไม่ผ่านอสส.
หน่วยงานรัฐ-องค์กรอิสระ ถกพัฒนาจริยธรรมป้องปรามทุจริต ป.ป.ช. ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อนปัญหาหลักคอร์รัปชั่น เสนอฟ้องคดีเอง ไม่พึ่งอัยการฯป.ป.ท. โบ้ยกลไกป้องกันในปัจจุบันไม่ดี สตง. ยันจนท.รัฐทำผิดต้องรับโทษทั้งแพ่ง-อาญา
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการสัมมนาเรื่อง “คอร์รัปชั่นในระบบราชการ : ต้องทำอะไรต่อ ?” ตอน “การพัฒนาจริยธรรม ระบบการให้บริการ เพื่อป้องปรามการทุจริต : มุมมองจากผู้กำกับดูแล” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ และองค์กรอิสระเข้าร่วมบรรยายพิเศษ
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ถ้าเราพูดถึงการทุจริต ก็ถือว่าเป็นวงจรอุบาทว์ชนิดหนึ่งก็ว่าได้ โดยมีการร่วมมือจาก 3 ฝ่ายหลัก คือ ฝ่ายผู้บริหารหรือรัฐบาล ฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายผู้ประกอบการ ทั้งนี้หากไม่มีการไปร่วมมือในวงจรนี้ ก็จะไม่มีการทุจริต อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีหลายองค์กรเอกชนเข้าไปร่วมกันต่อต้านคอร์รัปชั่น ส่วนเรื่องการขัดคุณธรรมจริยธรรมนั้น ถ้ามองอีกมุมหนึ่งแทบจะเป็นเรื่องของคอร์รัปชั่น โดยสิ่งที่น่ากลัวคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และหากเราไม่มีจริยธรรมไปคุมเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปล่อยให้เพื่อนฝูงลูกเมียไปทำ ควบคุมไม่ได้ คอร์รัปชั่นก็จะเกิด ดังนั้นเรื่องจริยธรรมก็คงต้องว่ากันอีกเยอะ
“การป้องกันทุจริตที่ดีคือเราต้องสร้างความตระหนักรู้ การสร้างจิตสำนึก ค่านิยมสุจริต โดย ป.ป.ช. ที่ผ่านมาสำเร็จหรือไม่ ขอตอบเลยว่ายังไม่สำเร็จเท่าที่ควร ขอให้เราเดินให้ถูกทาง เราเสนอยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หวังให้คอร์รัปชั่นของประเทศไทยดีขึ้น ดังนั้นเราจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ก็ต้องมาร่วมกัน” นายสรรเสริญ กล่าว
นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า ไม่อยากบอกว่า นักการเมืองกอบโกยผลประโยชน์ นักการเมืองที่ดีก็มี แต่ที่มีมันไม่ดี เลยเกิดปัญหาเช่นนี้ ป.ป.ช. จึงต้องดูแลจริยธรรมของนักการเมืองควบคู่ไปด้วย ดังนั้นถ้าอยากปฏิรูป ก็ต้องทำตั้งแต่ต้น คนที่จะมาเล่นการเมือง ต้องไม่เข้ามาแบบนี้อีกแล้ว ไม่ใช่มาทำเป็นอาชีพ แต่ต้องทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหน่วยงานแรกที่ต้องดู ป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงาน การใช้จ่ายเงิน ถ้าทำได้เช่นนี้ ก็ถือว่าปิดประตูทางเข้าตั้งแต่แรก การปฏิรูปก็น่าจะสำเร็จ
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้คดีคอร์รัปชั่นจบลงรวดเร็ว ถ้าหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) มันก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบเสียก่อน หากสำนวนไม่สมบูรณ์ก็ต้องตั้งคณะทำงานร่วมฯ ทั้งที่คนทำผิดมีพยานหลักฐานครบ ขณะที่กระบวนการยุติธรรมในทางอาญา ป.ป.ช. มีหน้าที่ไต่สวนส่งให้ อสส. ฟ้อง แต่คนตัดสินคือศาล ดังนั้นเราไม่ใช่หาข้อเท็จจริงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะลงโทษได้เมื่อไหร่
“ในมุมมองต่างประเทศ ไม่ต้องให้ อสส. ก็ได้ ให้ ป.ป.ช. ฟ้องเองได้หรือไม่ ปัจจุบันเรามีสำนักฟ้องคดี เราเชื่อว่าไม่มีใครฟ้องคดีเก่งกว่าอัยการ แต่ก็ไม่มีใครไต่สวนคดีได้เก่งกว่า ป.ป.ช. ถ้าเราตั้งคณะทำงานร่วมฯ เราไม่เห็นด้วย แต่ถ้า ป.ป.ช. ทำแล้วฟ้องคดีเองได้หรือไม่ ถ้าเราพัฒนาเจ้าหน้าที่ และขณะนี้พัฒนาไปพอสมควรแล้ว และเมื่อส่งศาล ก็ยังแน่ใจว่าควรจะมีลักษณะของศาลเฉพาะ ฟ้องไปที่ศาลนั้นโดยตรง โดยศาลนั้นจะมีอุทธรณ์-ฎีกาด้วยก็ได้ ถ้าแก้ไขแนวนี้ อาจทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในส่วนดำเนินคดีเสร็จได้โดยเร็ว” นายสรรเสริญ กล่าว
ขณะที่ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปัญหาทุจริตได้สร้างปัญหาใหญ่โต เพราะกลไกที่มีอยู่แก้ไม่ไหว ป.ป.ช. ถูกกำหนดมาให้แก้ไขปัญหาปกติกึ่งแรง ป.ป.ท. ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่กำหนดมาแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติ ดังนั้นกลไกการผลิตปัญหามันคล่องตัว แต่กลไกการแก้ไขมันขัดข้อง ถึงบอกว่าหากเรานิ่งเมื่อไหร่ จะมีการลุกฮือขึ้นมาใหม่แน่
“การทุจริตมันกระจายไปทั่วประเทศ สิ่งกระตุ้นในสังคมมีเยอะ ทั้งประชาชนทั่วไปและข้าราชการ แต่เกราะป้องกันมันมีน้อย ถึงว่าบางส่วนจะถูกเจาะได้โดยง่าย ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ ก็ต้องเน้นในมุมของการป้องกันอย่างเดียว แต่การสร้างภูมิคุ้มกันด้านจริยธรรมที่ทำกันมากว่า 10 ปี ก็รู้แล้วว่าสู้ไม่ไหว จะทำอย่างนี้ต่อไปหรือมาตรการทางวินัยสมควรถูกดึงมาใช้อย่างจริงจังหรือไม่” นายประยงค์ กล่าว
ส่วน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่า สตง. กล่าวว่า ถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ ก็ต้องมีหมอ มีวิศวกรมานั่งเป็นผู้บริหารบ้าง แต่ว่าอย่างไรก็สู้ทหารไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ได้สนับสนุนให้ทำอะไรใหญ่โตหรือน่ากลัว แต่การคิดอย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นขอให้คราวนี้อย่ารีบร้อน ทั้งนี้ระบบป้องกันตรวจสอบสำคัญที่สุด คือความรับผิดชอบของเจ้าหน้าทีรัฐ หากทำหน้าที่บกพร่องทำให้หน่วยงานเสียหาย ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ชดใช้ทั้งทางแพ่งและอาญา