ชาวบ้านวังน้ำเขียวเผยเหตุขายที่ ส.ป.ก.เพราะหนี้ทับ-สกว.ดันโมเดลจัดสรรที่ทำกิน
ส.ป.ก.ยอมรับที่ผ่านมาเอาแต่แจก ไม่ตามผล ทำให้ที่ดินหลุดมือเกษตรกรสู่นายทุน ชาวบ้านเผยไม่มีใครอยากขายที่ แต่ไม่มีทุนทำกิน-หนี้สินทับ สกว.จับมือ ส.ป.ก.-สอศ.ทำโครงการพัฒนาเกษตรรุ่นใหม่ หวังผลเป็นโมเดลจัดสรรที่ทำกิน
จากสถานการณ์ปัญหาการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก.ในเขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้ร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใน “โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่” และสอบถามคนในพื้นที่ถึงกรณีดังกล่าว
นายวินัย เมฆดำ นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อ.วังน้ำเขียว กล่าวว่าการแจกที่ดินของ ส.ป.ก.ในอดีตเป็นการให้แล้วให้เลย ไม่มีการติดตามและประเมินผลว่าเกษตรกรมีการทำกินในที่ดินจริงหรือไม่ เพียงแต่ขึ้นทะเบียนคนจนที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีที่ดินของตนเองก็ได้รับการแจก เมื่อเวลาผ่านไป จึงทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาเมื่อนายทุนมากว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกร เพื่อนำไปทำรีสอร์ทตอบสนองการท่องเที่ยว จึงมีการเปลี่ยนมือ ทั้งที่ความเป็นจริงที่ดิน ส.ป.ก. จะซื้อขายไม่ได้ จึงเกิดเหตุการณ์ตามที่เป็นข่าวในปัจจุบัน
ด้านนางต้อย เจียมโพธิ์ เกษตรกร ที่ได้รับจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. 2.2 ไร่ ตามโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 จาก ส.ป.ก.ในนิคมเศรษฐกิจพอเพียง อ.วังน้ำเขียว กล่าวว่าตนเองเพิ่งได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินในปีที่ผ่านมา แต่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้มีการขายที่ดิน ส.ป.ก.ในอดีตว่าเนื่องจากเมื่อเกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดิน แต่ไม่มีเงินทุน ต้องกู้ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ แต่เมื่อผลผลิตราคาตกต่ำ ก็ไม่มีเงินชำระหนี้ ต้องกู้เพิ่มอยู่เรื่อยๆ ทำให้ดอกเบี้ยทบต้น เช่น จากเงินกู้เพียงแค่ 10,000 บาท ก็กลายเป็น 15,000 จากดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนทำให้ เป็นวัฏจักรเงินกู้ สิ่งที่จะหนีพ้นจุดนี้ไปได้ คือ ต้องขายที่ดิน
“ปัจจุบันมีรายได้จากการขายผักวันละ 500-1,000 บาท ถือว่าพออยู่พอกิน ถ้าเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูก ผลผลิตมีราคาดีจนสามารถเลี้ยงตัวได้แบบนี้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากขายที่ แต่เมื่อเป็นหนี้สินและหาทางออกไม่ได้ก็จำเป็นต้องขาย”
นางต้อย ยังกล่าวว่า จากสถานการณ์และข่าวที่ปรากฏในปัจจุบัน ทำให้คนเดินทางมาท่องเที่ยวน้อยลง ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อผักตามโรงแรมและรีสอร์ทต่างๆลดลงไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามผักที่เธอปลูกเป็นผักปลอดสารพิษ อยู่ในความต้องการของตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นโดยรวมจึงไม่ได้ลดลงมากนัก
นายสุวิทย์ ภูมิประเสริฐโชค เจ้าหน้าที่บริหารโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ สกว. กล่าวว่า ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่ดินในภาคการเกษตรลดลง การจัดสรรที่ดินในอดีตทำได้ถึงคนละ 10–15 ไร่ แต่ปัจจุบันอยู่ที่คนละ 2-5 ไร่ ซึ่งการเกษตรแนวใหม่ควรเป็นการผลิตที่เน้นการมีประสิทธิภาพ และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยการผลิตที่มี
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นความร่วมมือ 3 หน่วยงาน คือ สกว.ให้ความรู้และข้อมูลวิจัย คณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่จัดการศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และ ส.ป.ก. สนับสนุนที่ดินทำกิน โดยพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่รองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย โดยมีที่ดิน 307 แปลง แปลงละ 2.5 ไร่ จัดสรรที่ดินให้เกษตรแล้ว 293 ราย
ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินจะต้องผ่านหลักสูตรการอบรม ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ปัญหาความยากจน โดยวิธีการฝึกปฏิบัติ เช่น มีการวางแผนการผลิต การแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีทุนตั้งต้นให้เกษตรกรรายละ 10,000 บาท และเบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 100 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างรอผลผลิต และยังการติดตามประเมินผลจากเจ้าหน้าที่โครงการด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่อง และหากเป็นไปได้อาจใช้เงื่อนไขนี้ในการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ต่อไป .