สนง.ที่ดิน ติดโผอันดับ 1 รับสินบน เกินแสนบ.‘สื่อฯ-ศาล-ขรก.’ ความน่าเชื่อถือลด
‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ เผยผลวิจัยคอร์รัปชันฯ พบหัวหน้าครัวเรือนไทยถูกเรียกสินบนจาก ‘สำนักงานที่ดิน’ มากสุด โดยรวมมูลค่าลดลง 3 เท่า จาก 15 ปีก่อน ‘สื่อฯ-ศาล-ขรก.’ ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือ เสียงเอกฉันท์หนุนลงโทษขรก. ทุจริตหนักกว่าปชช.
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, องค์การต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดเวที ‘คอร์รัปชันในระบบราชการ:ต้องทำอะไรต่อ’ ณ ห้องนนทบุรี 2 สำนักงาน ป.ป.ช. จ.นนทบุรี
โดยในเวทีนำเสนองานวิจัย เรื่อง คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ และประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2557 ได้ศึกษาเกี่ยวกับครัวเรือนไทยถูกเรียกสินบน/เงินพิเศษเมื่อไปติดต่อกับหน่วยงานราชการบ่อยครั้งมากน้อยเพียงใด เป็นเงินเท่าไร และปัญหาที่รุนแรงมากสุดกระจุกตัวอยู่ที่ไหน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างสำรวจจากครัวเรือนทั้งสิ้น 6,048 รายทั่วประเทศ
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คอร์รัปชันในรูปของสินบนที่เป็นตัวเงินอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. สินบนวงเงินสูง ขนาดเป็นสิบหรือร้อยล้านบาท โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างและโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ นักธุรกิจได้รับผลกระทบมากและเป็นประเด็นที่ประชาชนรับทราบเรื่องนี้จากสื่อมวลชนมาก
2. สินบนในวงเงินไม่สูงมาก ที่ครัวเรือนประสบในชีวิตประจำวัน หรือเรียกว่าคอร์รัปชันภาคครัวเรือน ซึ่งการศึกษานี้เน้นไปที่การคอร์รัปชันประเภทหลังเพราะส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก
นักวิชาการ จุฬาฯ เปิดเผยถึงผลการวิจัยว่า หน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วถูกเรียกสินบนบ่อยที่สุด คือ สำนักงานที่ดิน คิดเป็นร้อยละ 7.2 (ปี 2542 ร้อยละ 12.3) รองลงมาได้แก่ สถานีตำรวจ ร้อยละ 6.1 (ลดลงจากร้อยละ 8.5) ขณะที่กรมศุลกากรและกรมการขนส่งทางบก (ใบขับขี่/ทะเบียนรถ) มีจำนวนการเรียกรับสินบนลดลงอย่างมากเพียงร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.9 (จากเดิมร้อยละ 10.3 และ 7.7 ตามลำดับ)
ทั้งนี้ หน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วมีการเรียกเงินสินบนก้อนใหญ่เกิน 100,000 บาท/ราย เหลือเพียงสำนักงานที่ดินเท่านั้น
“กรมศุลกากร ตำรวจ และกรมสรรพากรยังคงเป็นหน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วมีการเรียกเงินสินบนก้อนใหญ่ แต่ลดลงมาอยู่ที่ 10,000-100,000 บาท/ราย และมี 2 หน่วยงานที่มีการเรียกเงินสินบนในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ดี หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วถูกเรียกเงินสินบนส่วนใหญ่จะโดนเรียกเงินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท”
ด้านการเรียกเงินสินบนที่โรงเรียนของรัฐบาล ศ.ดร.ผาสุก ระบุว่า มีมูลค่าเฉลี่ย 11,796 บาท สูงที่สุดเทียบกับหน่วยราชการอื่น ๆ (ปี 2542 เฉลี่ยเท่ากับ 9,588 บาท) โดยมีศุลกากรอยู่ในอันดับ 2 ทั้งปี 2542 และ 2557 โดยเพิ่มขึ้นจาก 8,428 บาทเป็น 10,538 บาท รองลงมาได้แก่ สำนักงานที่ดิน (5,341 บาท) และสถานีตำรวจ (4,919 บาท) จึงนับว่าการคอร์รัปชันทางด้านการศึกษาดูเหมือนจะมีความร้ายแรงที่สุดในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังพบว่า หน่วยงานที่มีมูลค่ารวมของการเรียกเงินสินบนมากที่สุดยังคงเป็นสำนักงานที่ดิน (1,922 ล้านบาท) สถานีตำรวจ (1,792 ล้านบาท) แต่อันดับที่ 3 กลับเป็นโรงเรียนของรัฐบาล (640 ล้านบาท) การเรียกเงินสินบนรวมทั้งสิ้นเกือบ 4,944 ล้านบาทของหน่วยงานทั้งหมด 10 แห่ง จะเห็นได้ว่ามูลค่าของการเรียกรับสินบนลดลงถึง 3 เท่าจากเมื่อ 15 ปีก่อน
นักวิชาการ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงทัศนคติของหัวหน้าครัวเรือนให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชันมากกว่าที่เคยสำรวจไว้ แต่ก็ยังเห็นว่าความร้ายแรงของปัญหาคอร์รัปชันนั้นน้อยกว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีและค่าครองชีพสูง
“คอร์รัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ได้ เนื่องจากการกระทำของนักการเมือง ไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดา ซึ่งสถาบันที่หัวหน้าครัวเรือนมีความไว้ใจเชื่อถือลดลง คือ สื่อมวลชน ระบบศาล และข้าราชการ” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว และว่าหัวหน้าครัวเรือนมองสถาบันการศึกษาเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปราบปรามคอร์รัปชัน รองลงมาคือ ป.ป.ช. เอ็นจีโอ สื่อมวลชน และเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชันภาคเอกชน
ทั้งนี้ ต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชันควรถูกลงโทษสถานหนักกว่าประชาชนคนธรรมดา และรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปราบปรามคอร์รัปชันเป็นลำดับต้น ๆ
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า การที่ระดับการคอร์รัปชันและจำนวนเงินที่ประชาชนถูกร้องขอเป็นสินบน/เงินพิเศษที่พบว่าลดลงในปี 2557 นั้น อาจประมาณการต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ ข่าวสารการต่อต้านคอร์รัปชันทำให้ผู้ตอบระมัดระวังตัวมากขึ้น และการให้สินบนอาจมีรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น เล่นพรรคเล่นพวก พาดูงานต่างประเทศ การเลื่อนขั้น เป็นต้น
โดยผลการสำรวจวิจัยครั้งนี้นี้ทำให้เห็นภาพว่าการคอร์รัปชันที่ครัวเรือนประสบได้ลดลง แต่ก็ยังมีปัญหาร้ายแรงในบางจุด
ศ.ดร.ผาสุก มีข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาต่อไปว่า ควรจะมีการศึกษาต่อยอดกรณีที่ประสบความสำเร็จมากเปรียบเทียบกับกรณีที่ยังเป็นปัญหาให้ลุ่มลึกถึงสาเหตุและวิธีการคอร์รัปชัน เพื่อสรุปบทเรียนการสร้างความโปร่งใสและลดการทุจริตภาคราชการให้ได้ผลยิ่งขึ้นอีก และให้หน่วยงานและองค์กรหรือบุคคลสาธารณะที่ยังมีปัญหาใส่ใจกับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ให้มีการสำรวจแบบเดียวกันนี้ในระดับชาติทุก 5 หรือ 10 ปี เป็นมาตรการหนึ่งในการตรวจสอบและป้องปรามการคอร์รัปชันภาคราชการที่ครัวเรือนประสบ ตลอดจนการเรียกรับสินบนก้อนใหญ่ในบางหน่วยงานราชการส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะผู้ให้สมยอมเนื่องจากได้ประโยชน์มากกว่าที่เสีย ซึ่งทำให้ยากที่จะปราบ
ดังนั้น จึงควรศึกษาวิจัยถึงมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ได้ผลแล้วในประเทศอื่น อาทิ มาตรการกำกับและควบคุมข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปรกติแบบต่าง ๆ โดยศึกษาความเป็นไปได้และการปรับให้เหมาะสมกับระบบกฎหมายของไทย ซึ่งอาจศึกษาเปรียบเทียบกับการสร้างฐานข้อมูลภาษีเงินได้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมกับการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำกับ
นักวิชาการ จุฬาฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการคอร์รัปชันกับความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตลาดข้าวไทยถูกทำลาย ทว่า ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ศ.เกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไทย) เคยระบุไว้ ต้องมองเม็ดเงินที่ลงทุนไปมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เรามักไม่ได้กล่าวถึง
กระนั้น การจะฟื้นคืนภาพลักษณ์ของไทยกลับคืนมาได้ต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ ไทยยังมีความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องข้าวเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิ แต่หากยังปล่อยให้ชื่อเสียงเสียหายนานก็ยากจะกู้คืนมาได้ .