"หมอวันชัย"มองต่างมุมปมไทยพีบีเอส ชี้"คนจัดเวที"ต้องมีทักษะไม่ขยายขัดแย้ง
มีมุมมองที่น่าสนใจจาก นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะ "นักเจรจาไกล่เกลี่ย" ชื่อดัง เกี่ยวกับกรณีทหารตบเท้าเข้าพบผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อขอให้เปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" จนกลายเป็นประเด็นบานปลายในแง่ของการแทรกแซงคุกคามเสรีภาพสื่อ
หมอวันชัย บอกว่า ได้ยินได้ฟังข่าวที่เกิดขึ้นแล้วรู้สึกเป็นห่วง และเข้าใจทั้งฝ่ายสื่อมวลชน คือ ไทยพีบีเอส และฝ่ายทหาร ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่ากระทำไปในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นหากมองให้เป็น "บทเรียน" น่าจะเป็นมุมที่ดีและเป็นประโยชน์มากกว่า
หมอวันชัย อธิบายว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องสร้างความปรองดอง ฉะนั้นการจะไปจัดเวทีอะไรก็แล้วแต่ ผู้จัดโดยเฉพาะพิธีกรหรือผู้ดำเนินการอภิปราย จะต้องมีทักษะในการสื่อสารพอสมควร ต้องไม่มีการชี้นำหรือทำให้เกิดความรู้สึกว่ายืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง
"การที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง ก็เพราะการเมืองถึงทางตัน บ้านเมืองไปไม่ได้ สื่อเองถ้าจะทำเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ก็เป็นสิทธิของสื่อที่จะจัดเวทีได้ แต่ต้องตระหนักเรื่องของ 'การนำเสนอไม่ให้เกิดความขัดแย้ง' โดยการนำเสนอหรือจัดเวทีนั้น การตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องตั้งคำถามแบบเปิดกว้าง ไม่ชี้นำ โดยเฉพาะชี้นำไปจนกระทั่งคนบางกลุ่มมองว่าคุณเอียงหรือเปล่า เพราะสื่อจะต้องทำหน้าที่อย่างคนกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่เอียงไปทางทหาร หรือฝ่ายการเมือง หรือใครก็แล้วแต่"
หมอวันชัย อธิบายต่อว่า หากมองเรื่องนี้ในแง่ของสื่อที่รู้สึกว่าทหารเข้ามาแล้วใช้อำนาจบีบบังคับไม่ให้เสนอข่าว ก็สามารถมองได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพราะบ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง และขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิรูป ซึ่งก็เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รากเหง้า
ฉะนั้นสื่อจะต้องเรียนรู้กระบวนการนำเสนออย่างไม่ชี้นำ ประเด็นหลักของการนำเสนอในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ความขัดแย้งกระจายทั่ว ต้องไม่ใช่ลักษณะว่าใครนึกจะพูดอะไรก็ได้ เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังหาทางออกให้ประเทศชาติ
"สิ่งสำคัญที่สุด คือ สื่อจะต้องฟังเยอะๆ ฟังจากประชาชนหลายๆ ฝ่าย ให้เขาพูดอะไรออกมา และมีการกำหนดกติกาก่อนเริ่มพูดคุย เช่น มองอดีตเป็นบทเรียน, ไม่ชี้หน้าด่ากัน, อดีตเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงอดีตก็จะต้องบอกว่าใครถูกใครผิด ซึ่งจะยิ่งสร้างความขัดแย้ง เพราะวันนี้การจะหาคนผิดต้องไปที่ศาล แต่ถ้าจะหาทางออกให้ประเทศชาติ เราจะต้องมองอนาคต สมมติจะจัดเวทีอะไรก็แล้วแต่ ต้องพยายามค้นหาว่าประชาชนอยากเห็นอะไร ความฝันความหวังที่จะมีร่วมกันคืออะไร นี่คือสิ่งที่สื่อต้องตระหนัก"
"เรื่องกติกาในเวทีใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะสังคมที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอยู่แล้ว กติกาต้องรัดกุม สื่อเองก็ต้องฟังอย่างตั้งใจ และฟังอย่างเข้าใจ การเอาใจเขาใส่ใจเราถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเข้าใจว่าคนที่ขัดแย้งกัน คนหนึ่งก็เป็นคนที่ฟังวิทยุของสีหนึ่งมา อีกคนก็อาจจะฟังวิทยุของอีกสีหนึ่ง ถ้าเราพยายามหาทางออก เราจะต้องไม่ไปกล่าวหาหรือไปชี้ว่าคนนี้ถูกคนนี้ผิด สื่อไม่มีหน้าที่ไปชี้ถูกชี้ผิด เพราะสื่อต้องเอาเสียงของประชาชนมานำเสนออย่างเป็นกลางด้วย"
หมอวันชัย สรุปความเห็นของเขาว่า ถ้าจะจัดเวทีแล้วไม่ให้ขยายผลความขัดแย้ง จะต้องใช้กระบวนการที่เปิดให้ทุฝ่ายมาคุยกัน ฟังกัน ไม่ชี้หน้าด่ากัน ถ้าจะหาข้อยุติก็ต้องเป็นฉันทามติ และต้องเข้าใจว่าบางครั้งเรื่องยากๆ ก็ไม่อาจหาฉันทามติในการนำเสนอครั้งเดียว เมื่อนำเสนอแล้วก็ต้องบอกว่าทำไมคิดอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ไม่ใช่ให้คนนั้นพูด คนนี้พูด แล้วไม่มีทางออก สมาคมวิชาชีพสื่อต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเข้าใจด้วยเช่นกัน
"เวทีอย่างนี้ไม่ใช่ใครก็มาจัดได้ แต่จะต้องเป็นเวทีผู้ดำเนินรายการต้องผ่านการฝึกอบรมมา รู้จักและเข้าใจทักษะของการสื่อสาร" หมอวันชัย ระบุและว่ากำลังจัดทำคู่มือของผู้สร้างความปรองดอง ให้กับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อซักว่าประเด็นสำคัญในคู่มือของผู้สร้างความปรองดองคืออะไร หมอวันชัย บอกว่า ต้องฟังอย่างตั้งใจ ฟังแล้วไม่ฟันธง เมื่อใครก็แล้วแต่พูด ต้องฟังแล้วต้องจด หลักอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พูดแบบสร้างสรรค์ ใช้ "ไอแมสเสจ" หรือคำพูดเชิงบวกจากตัวเราเพื่อแสดงความเข้าใจอีกฝ่าย ไม่ใช่ "ยูแมสเสจ" หรือคำพูดเชิงลบแบบชี้หน้าด่ากัน เพราะถ้าใช้ "ยูแมสเสจ" ต้องไปเจอกันที่ศาล
ที่สำคัญต้องรู้หลักการการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่เอาคำตอบมาเป็นโจทย์ เพราะที่ผ่านมาเวทีส่วนใหญ่มักไปเอาคำตอบมาเป็นโจทย์ เช่น สร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน, สร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้า ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ฯลฯ ทางที่ถูกควรเขียนโจทย์ที่เป็นกลางว่า ประเทศไทยควรหาทางออกอย่างไร
ฉะนั้นเวทีต่างๆ ต้องไม่เอาคำตอบมาเถียงกัน เหมือนตอน นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจรจากับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ไปเถียงกันเรื่องยุบหรือไม่ยุบสภา แบบนี้คุยกันอย่างไรก็ทะเลาะกัน
"ผู้สร้างความปรองดองต้องมีทักษะ เป็นวิทยากรกระบวนการ รู้วิธีการตั้งคำถาม และต้องไม่ตัดสินหรือตั้งธงล่วงหน้า" หมอวันชัย ย้ำ
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกเป็นห่วงเวทีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมไปจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค เพราะหากใช้วิทยากรที่ไม่เข้าใจกระบวนการอย่างแท้จริง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้เช่นกัน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพหมอวันชัย จากเว็บไซต์เจ้าพระยานิวส์ http://goo.gl/UeMdAg