พอใจ! ผลเจรจา ‘พล.อ.ดาว์พงษ์’ ปฏิรูปป่าไม้ที่ดิน เตรียมเดินก้าวที่ 4 ตรวจราชการ
‘พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ’ นั่งหัวโต๊ะร่วมหารือปฏิรูปป่าไม้ที่ดินราบรื่น ชาวบ้านพอใจแนวทางแก้ไขปัญหา ‘ประยงค์ ดอกลำไย’ ขู่หากไม่คืบหน้าเตรียมเดินก้าวที่ 4 ตรวจราชการ จี้ให้เป็นไปตามผลเจรจา
9 พฤศจิกายน 2557 นับเป็นวันเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 และแผนแม่บทป่าไม้ เพื่อหวังให้แก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ภายใต้กิจกรรม ‘ก้าวแรก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย’
ทว่า เพียงแค่ไม่กี่ก้าวของการเดินจาก จ.เชียงใหม่ –กรุงเทพฯ ตามแผนการรณรงค์นั้น เจ้าหน้าที่ภาครัฐได้ขอความร่วมมือให้หยุดกิจกรรมดังกล่าวทันทีเมื่อถึงวัดสวนดอก และนำมาสู่การปิดล้อม ควบคุมตัว อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และแกนนำคนอื่น ๆ ไว้ชั่วคราว
ต่อมา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการ และผู้แทน สกน. โดยพร้อมจะผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน และกฎหมาย 4 ฉบับ ส่วนประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายป่าไม้จะเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมวิงวอนให้หยุดเดินขบวน
กระทั่ง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ลงพื้นที่เจรจากับผู้แทน สกน. และเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษา สกน. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงผลการประชุมครั้งล่าสุด โดยระบุว่า ได้มีการหยิบยกรูปธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าขึ้นมาหารือ ซึ่งผลสรุปเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
ก่อนขยายความต่อไปถึงการแก้ปัญหาระดับพื้นที่ว่า...
-กรณีหมู่บ้านทุ่งป่าคา ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านถูกจับกุมตัวดำเนินคดีทั้งสิ้น 39 ราย ในข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ซึ่งความจริงมีเพียง 4 ราย เท่านั้นที่พัวพันกับกระบวนการค้าไม้ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ตกเป็นแพะจากสถานการณ์ดังกล่าว
“ ขณะนี้มีชาวบ้านยังไม่ได้รับการประกันตัว 19 ราย ส่วนชาวบ้านรายใหญ่นั้น ศาลไม่อนุมัติให้ประกันตัว”
ที่ปรึกษา สกน. กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รับปากจะประสานของบประมาณ 5.6 ล้านบาท จากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เพื่อประกันตัวชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557
อีกทั้ง ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการ จ.แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่คัดกรองข้อมูลผู้ถูกดำเนินคดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการอุทธรณ์คดีแก่ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าไม้
-กรณีหมู่บ้านห้วยหกและเลาวู อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ภาครัฐได้ลงพื้นที่ตัดฟันทำลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดและข้าวของชาวบ้าน 6 ราย เพื่อทวงผืนป่า 1,500 ไร่ ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มีข้าวบริโภคและรายได้จากการขายข้าวโพด
ด้วยเหตุนี้ รมว.ทส. ขออภัยกับการกระทำที่เกิดขึ้น พร้อมกับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบความเสียหายและจ่ายชดเชยแก่ชาวบ้าน 6 ราย ส่วนพื้นที่อื่นให้หยุดการดำเนินการไว้ก่อน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2545
“หากพบมีร่องรอยการเข้าใช้พื้นที่ของชาวบ้านก่อนปี 2545 ก็สามารถทำกินต่อไปได้ แต่หากไม่มีก็ให้ส่งคืน และนำไปสู่การฟื้นฟูป่าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายประยงค์ กล่าว
-กรณีหมู่บ้านห้วยน้ำตื้น ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง นายอาแม อามอ ชาวอาข่า ถูกอัยการสั่งฟ้องดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท 80 ไร่ ค่าเสียหาย 4.6 ล้านบาท จากทั้งหมด 106 ไร่ ที่มีการทวงคืนผืนป่า ทว่า ข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2545 พบนายอาแมครอบครองพื้นที่ทำกินเพียง 33 ไร่เท่านั้น
พล.อ.ดาว์พงษ์ จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และ คสช.จ.ลำปาง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับชาวบ้านและทีมกฎหมายของเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งหากผลลัพธ์เป็นไปตามที่ระบุไว้ จะมีการแถลงต่อศาลเพื่อเปลี่ยนแปลงคำให้การ พร้อมยื่นข้อเท็จจริงใหม่ให้พิจารณา คาดว่าจะดำเนินการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557
ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอีก 21 กรณี ทั่วประเทศ นายประยงค์ ระบุว่า รมว.ทส.สั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ รับทราบประเด็นปัญหาทั้งหมด ก่อนจะร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยในระหว่างนี้ให้ชะลอการจับกุมหรือดำเนินการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ไว้ก่อนชั่วคราว
ที่ปรึกษา สกน. ยังระบุถึงข้อสังเกตของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ตั้งคำถามถึงกระบวนการจัดทำแผนแม่บทป่าไม้ จนส่งผลต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านว่า ใช้ระยะเวลาเพียง 45 วัน ซึ่งถือว่าสั้นมาก อีกทั้ง ทหารยังเข้าไปนั่งอยู่ในสัดส่วนคณะกรรมการถึง 11 คน จากทั้งสิ้น 17 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรฯ
ทว่า ไม่ปรากฏคณะกรรมการสัดส่วนนักวิชาการสาขารัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือประชาชนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ ทำให้รายละเอียดเป็นไปในลักษณะเดิมอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา
นายประยงค์ กล่าวต่อว่า แผนแม่บทฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้เพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขจากแผนนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2528 ขณะนั้นประชากรมีไม่ถึง 50 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีประชากร 65 ล้านคน ดังนั้น จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในสังคมหรือไม่
ที่น่ากังวล อาจนำไปสู่การเปิดพื้นที่ป่าอุทยานให้มีการสร้างสนามกอล์ฟหรือรีสอร์ท ด้วยยุทธศาสตร์หนึ่งระบุให้คืนสิทธิผืนป่าถูกบุกรุกให้ โดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2545 ตรวจสอบว่าเขตใดบ้างในอุทยานที่ไม่มีการออกเอกสารสิทธิ แต่มีร่องรอยในภาพถ่ายปี 2495
“กฎหมายปัจจุบันยังไม่สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ แต่หากแผนแม่บทฯ เปิดช่องก็จะทำให้มีเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอำนาจ กลุ่มทุน หรือเจ้าของแผนที่ ทราบข้อมูลร่องรอยการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ปี 2495 นำมาสู่การขอเจรจาซื้อพื้นที่ภายหลัง”
ส่วนท่าทีของพล.อ.ดาว์พงษ์ ต่อประเด็นดังกล่าว ที่ปรึกษา สกน. กล่าวว่า ท่านยอมรับในข้อบกพร่องของแผนแม่บทฯ จึงมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการในพื้นที่ได้รับผลกระทบชั่วคราว ซึ่งต้องมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ยังเห็นด้วยกับการกำหนดพื้นที่นำร่องพัฒนา ได้แก่ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และ บ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในฐานะได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยประชาชนมีส่วนร่วม
นายประยงค์ ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ข้อยุติต่าง ๆ มีความชัดเจนพอสมควร ฉะนั้นก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนจะเริ่มต้นต่อเมื่อผลการเจรจาที่ผ่านมาไม่ถูกนำไปดำเนินการตามที่รับปากไว้ เราก็จะปฏิบัติการก้าวที่ 4 เพื่อตรวจสอบราชการทันที เพื่อให้เป็นไปตามผลการเจรจาและข้อตกลงทั้งหมด .
ภาพประกอบ:ดิเรก กองเงิน