จากขาหุ้น อ.ประภาส ถึงณาตยา...บทเรียนจากใต้ถึง กทม.
ไม่ทราบว่า คสช. กองทัพ และรัฐบาลเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าที่ไปใช้วิธีจับกุมบุคคลที่เดินเท้ารณรงค์เพื่อการปฏิรูป และแทรกแซงสื่อที่จัดเวทีรับฟังเสียงประชาชน
เพราะความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากการรณรงค์อย่างเปิดเผยให้สังคมเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เชิงองค์ความรู้ หรือเปิดพื้นที่ให้กลุ่มที่คิดเห็นแตกต่างได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น แต่ความขัดแย้งเกิดจากพวกปลุกปั่น ยุยง ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ และใช้ความรุนแรง สร้างกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งถามว่าวันนี้ท่านได้จัดการลงโทษใครให้เป็นเยี่ยงอย่างบ้างหรือยัง
อำนาจกฎอัยการศึกล้นมือ อำนาจศาลทหาร ท่านมีไว้ทำไมถ้าไม่ใช่ในเรื่องเหล่านั้น
กลายเป็นว่ากฎอัยการศึกเอามาทำให้คนที่คิดดี หวังดีต่อบ้านเมืองเดือดร้อน...อย่างนั้นหรือ?
เห็นอย่างนี้นึกถึงสถานการณ์ภาคใต้ ประกาศทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคง เอาล่ะ! ผลดีของมันก็ช่วยให้จับกุมคนร้ายได้เร็วขึ้น รู้โครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบ และปกป้องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ระดับหนึ่ง
แต่ผลเสียของมันที่สร้างความหวาดระแวง กระทบเศรษฐกิจ คนดีเดือดร้อน สร้างเงื่อนไขเพิ่ม มันก็สูงพอๆ กัน ชั่งน้ำหนักดูแล้วไม่ทราบคุ้มหรือไม่
ที่ชายแดนใต้มีด่านตรวจเยอะแยะ แต่ยาเสพติดก็ยังเพียบ น้ำมันเถื่อนก็ทะลัก คนเข้าไปปฏิบัติงานบางคน ใช้เวลาไม่เท่าไร กลับออกมาร่ำรวยขึ้นผิดตา ไม่เห็นกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำอะไรได้ ชาวบ้านจึงไม่เชื่อมั่น ฯลฯ
ในกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ซึ่งประเดิมโดนจับเป็นรายแรกๆ ผมไม่ได้รู้จักส่วนตัวกับทุกคน แต่รู้จักแค่บางคน เช่น นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ท่านช่วยเหลือสถานการณ์ภาคใต้มามาก ร่วมวางมาตรฐานความปลอดภัยของบุคลากรทางสาธารณสุข วางมาตรฐานระยะห่างระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งก็คือการช่วยทหารในภารกิจดับไฟใต้ คนแบบนี้่สมควรถูกจับหรือ
อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ถูกจับระหว่างร่วมกิจกรรม "เดิน-ก้าว-แลก" เพื่อคัดค้านแนวทางการปฏิรูปที่ดินที่รัฐบาลกำลังทำ ท่านเคยเป็นคอลัมนิสต์ในกรุงเทพธุรกิจ ย้อนอ่านความคิดดูได้ว่าท่านทำงานกับภาคประชาชน ต่อสู้เพื่อสิทธิเพื่อเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีสี ไม่มีวาระแอบแฝงทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ณาตยา แวววีรคุปต์ ที่ถูกถอดจากรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" แม้ไม่ได้สนิทสนมกันมาก แต่ผมเคยเห็นเธอทำงานภาคใต้ช่วงที่สมาคมนักข่าวฯเปิดศูนย์ข่าวอิศรา เธอมองปัญหาหลายมิติ และทำรายการเกี่ยวกับความหลากหลายในพื้นที่ ซึ่งผมเชื่อว่าช่วยกองทัพมากมายในการเปิดพื้นที่สื่อสารและสร้างความเข้าใจกับคนสามจังหวัด
แล้วสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำกับเขา สิ่งที่คนในกองทัพทำกับพวกเขา เป็นเช่นนี้หรือ?
ส่วนพวกที่โกงบ้านกินเมือง ใช้อาวุธสงคราม สั่งเผาบ้านเผาเมือง หรือไม่เคารพกติกา พาคนออกทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย กลับอยู่สุขสบาย แถมบางคนยังได้มีตำแหน่งแห่งหนในสภาใหม่เพื่อวางกติกาประเทศ
ย้อนกลับไปภาคใต้อีกที ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการนิยมเปิด "เพจผี" ในเฟซบุ๊ค (ไม่ระบุตัวตนเจ้าของเพจ) เพื่อตอบโต้การเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง นำความจริงอีกด้านนอกเหนือจากที่มีการปล่อยข่าวกันในพื้นที่มาเปิดเผย
แต่ทำไปทำมา เพจพวกนี้กลายเป็นเพจโจมตีสื่อที่ตัวเองไม่ชอบ นำภาพสื่อมวลชนกระแสหลักบางคน และคนทำสื่อ (อาจไม่ใช่มืออาชีพ) ซึ่งเป็นสื่อทางเลือกในพื้นที่ไปโพสต์เหมือนขึ้นบัญชีดำพวกเขา
ในพื้นที่รู้กันดีว่าคนทำเพจแบบนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ!
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว กอ.รมน.พาสื่อส่วนกลางลงพื้นที่ มีการบรรยายสรุปในหน่วยราชการ ยังขึ้นภาพสื่อกระแสหลักบางคนแล้วกล่าวหาว่าเป็น "แนวร่วมมุมกลับ"
นี่คือ "ไอโอ" หรือปฏิบัติการข่าวสาร "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้ ซึ่งประกาศใช้กฎอัยการศึกมาก่อนการรัฐประหารปี 57 นานกว่า 10 ปี แล้ววันนี้สถานการณ์ไฟใต้ยังมีอยู่ การรุกราน ละเมิด ดิสเครดิตผู้อื่นยังมีมากมาย
เมื่อปฏิบัติการคล้ายๆ กันลามมาถึงกรุงเทพฯ คิดว่ามันจะสร้าง "แผ่นดินงดงามให้คืนกลับมา" ได้อย่างไร แล้วชาวบ้านจะยังคง "ไว้ใจและศรัทธา" แบบในเพลงได้อยู่หรือ? ช่วยตอบที!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ขณะทหารปล่อยตัวเป็นอิสระจากการควบคุม หลังฝ่าฝืนคำสั่งด้วยการจัดกิจกรรม "เดิน-ก้าว-แลก" เพื่อปฏิรูปที่ดินไทย
ขอบคุณ : ภาพโดย สุริยันต์ ทองหนูเอียด
ที่มา : ศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.57