คณะทำงานสื่อฯ พร้อมร่วมเวทีทหารถกเสรีภาพ หลังไทยพีบีเอสถูกคุกคาม
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปถกปมไทยพีบีเอส เข้าข่ายคุกคามเสรีภาพสื่อ ‘เทพชัย หย่อง’ จี้นายกฯ แสดงท่าทีชัดเจนกันเกิดเหตุซ้ำ ระบุการพูดคุยจะเกิดประโยชน์ต้องสื่อสารกันสองฝ่าย ไม่ใช่รับคำสั่ง
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และภาคีเครือข่าย จัดประชุมครั้งที่ 2 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้หารือในแนวทางการผลักดันการปฏิรูปเสรีภาพสังคมและสื่อมวลชนให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและบทบาทการคุ้มครองสื่อมวลชน ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550
ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดกรณีขึ้นกับการขอตรวจสอบเนื้อหารายการ เสียงประชาชน ต้องฟังก่อนปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จึงได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมด้วย โดยต่างมีความเห็นว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เอื้อต่อการปฏิรูป เพราะเข้าข่ายขู่เข็ญ คุกคาม การทำหน้าที่ของสื่อ และถึงแม้จะมีคำชี้แจงออกมาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คงไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้
ประธานคณะทำงานสื่อฯ กล่าวต่อว่า การส่งทหารเข้าไปพบ ถึงแม้ภาษาที่ใช้สื่อสารจะมีความสุภาพ แต่วิธีการสื่อสารกับเนื้อหาที่พูดคุยถือเข้าข่ายคุกคาม จึงอยากเห็นความชัดเจนจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการส่งสัญญาณชัดเจนไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก หรือให้ใครนำไปอ้างได้ว่ามีผู้ใหญ่สั่งมา ซึ่งเราไม่แน่ใจในสิ่งทีเกิดขึ้นเป็นความต้องการของผู้ใหญ่จริงหรือไม่
“สื่อมวลชนต้องมีส่วนร่วมช่วยระดมความคิดเห็นต่อการปฏิรูป จึงไม่ควรถูกปิดกั้น พร้อมกันนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สายสื่อมวลชน ต้องสร้างบรรยากาศให้การปฏิรูปครั้งนี้มีโอกาสเกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุดด้วย”
นายเทพชัย กล่าวถึงกรณีจะมีการเชิญสื่อเข้าไปพูดคุยอีกครั้ง จะเป็นประโยชน์ได้ต่อเมื่อเกิดการสื่อสารกันสองฝ่าย คงไม่ใช่เรียกไปเพื่อรับคำสั่ง แต่ต้องเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงคุกคามอีก
เมื่อถามว่าการมีสื่อสาธารณะไม่ได้แสดงออกความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ ประธานคณะทำงานสื่อฯ กล่าวว่า สังคมควรส่งเสริมสื่อสาธารณะให้มีบทบาทการทำหน้าที่ชัดเจน ซึ่งเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจมีความคาดเคลื่อนในการตีความบทบาทของสื่อสาธารณะไม่สอดคล้องกับหลักการที่ควรจะเป็น จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งความจริงสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่คงพร้อมให้การปฏิรูปเกิดขึ้นในทิศทางที่ควรจะเป็น และแน่นอนว่าอาจมีการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นควรจะสื่อสารด้วยวิธีทำความเข้าใจผ่านการพูดคุยมากกว่า ทว่า ต้องไม่ใช่ในลักษณะที่เคยเกิดขึ้น .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวทีนิวส์