กฤษฎีกาฟันธง "เลขาฯศอ.บต."อำนาจเต็มสั่งย้ายตำรวจพ้นชายแดนใต้
อำนาจการสั่งย้ายข้าราชการออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. มีข้อยุติแล้ว หลังจากเกิดปัญหาหน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการตำรวจไม่ยอมออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการตามคำสั่งของเลขาธิการ ศอ.บต.
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีคำสั่งที่ 99/2554 ลงวันที่ 23 พ.ค.2554 เรื่อง สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือน (ตำรวจ) ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเนื้อหาในคำสั่งได้สั่งให้ ร.ต.ท.รัฐการ รัตนฐากูร กับพวกรวม 9 นายออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ต่อมา ศอ.บต.กลับได้รับแจ้งจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต. หน่วยตำรวจระดับกองบัญชาการที่รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ว่าการสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกนอกสังกัด ศชต.เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรองสารวัตรถึงผู้บังคับหมู่นอกวาระประจำปี รวมทั้งเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระหว่างกองบัญชาการตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หรือการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการนอกกองบัญชาการที่สังกัดตามข้อ 8 แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ศชต.จึงได้มีหนังสือนำเรียน ผบ.ตร.เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว และเมื่อ ผบ.ตร.มีคำสั่งแล้วจะได้แจ้งให้ ศอ.บต. ทราบต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ศอ.บต.จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 5301.4/3139 ลงวันที่ 15 มิ.ย.2554 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสอบถามถึงอำนาจการสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นต้องออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภายในกำหนดระยะเวลาตามคำสั่ง โดยไม่ต้องรอปฏิบัติตามกฎหมายหรือรอคำสั่งของหน่วยงานของรัฐเจ้าสังกัดก่อน ถูกต้องหรือไม่
กฤษฎีกาชี้ขาด ศอ.บต.อำนาจเต็ม
ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาเรื่องของ ศอ.บต.เรียบร้อยแล้ว โดยมีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 733/2554 ลงนามโดย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 สรุปได้ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของ ศอ.บต.โดยได้รับฟังข้อเท็จจริงจากผู้แทน ศอ.บต.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว มีความเห็นดังนี้
มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจแก่เลขาธิการ ศอ.บต.สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งเมื่อเลขาธิการ ศอ.บต.ได้มีคำสั่งโดยชอบและแจ้งหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดทราบพร้อมด้วยเหตุผลแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นต้องปฏิบัติตามและไปรายงานตัวยังหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
การออกจากพื้นที่และการไปรายงานตัวดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำ สั่งของเลขาธิการ ศอ.บต. และดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.มิได้เกี่ยวกับอำนาจสั่งการของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น การออกจากพื้นที่และการไปรายงานตัวดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นแต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไปรายงานตัวยังหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดแล้ว การดำเนินการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ ซึ่งผู้บังคับบัญชาผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการและจะสั่งการอย่างไร ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐนั้น
เสนอ กพต.ถกทุกหน่วยชงหลักเกณฑ์
บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังระบุด้วยว่า โดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจพิเศษในการสั่งการเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ในทางปฏิบัติจึงอาจเกิดปัญหาได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับคำสั่งแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องไปรายงานตัวกับใคร และเมื่อรายงานตัวแล้วจะปฏิบัติตนอย่างไรต่อไป จึงเป็นการสมควรที่ ศอ.บต.จะประสานกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ เพื่อให้มีการออกระเบียบรองรับเรื่องการรายงานตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว
ในขณะเดียวกันคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 วรรคสี่แห่ง พ.ร.บ.ศอ.บต.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเดินทางออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับความจำเป็นตามควรแก่กรณีได้
เปิดรายละเอียดมาตรา 12 ติดดาบเลขาฯ ศอ.บต.
มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 บัญญัติว่า ในกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏแก่เลขาธิการหรือโดยการเสนอของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนผู้ใดมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้แจ้งหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดทราบพร้อมด้วยเหตุผล
เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ไปรายงานตัวยังหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง ในการนี้ให้หน่วยงานของรัฐเจ้าสังกัดดังกล่าวดำเนินการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว และในกรณีที่มีมูลความผิดทางวินัยให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นต่อไป และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้วให้แจ้งให้เลขาธิการทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือวันที่ได้มีคำวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด
ทางวินัย
เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเลขาธิการต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องกระทำภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง
การสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากพื้นที่และการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่ กพต.ประกาศกำหนด
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนหรือซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ใดมีพฤติกรรมหรือกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้เลขาธิการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน
ย้อนปมขัดแย้งย้าย 9 ตำรวจ
การใช้อำนาจสั่งย้ายข้าราชการตำรวจออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายภาณุ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2554 โดยข้าราชการทั้ง 9 นายถูกราษฎรร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่ง ศอ.บต.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้วพบว่าข้อร้องเรียนมีมูล
ข้อร้องเรียนดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ปี 2552 มีราษฎรร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่มีตำรวจเข้าไปตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น และได้ยึดเอาเงินสดและทรัพย์สินของผู้ร้องไปโดยไม่คืนให้ครบถ้วน ต่อมาได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกร้องเรียน รวมถึงศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต.ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 9 นายได้ปฏิบัติตนและปฏิบัติราชการไม่เหมาะสมจนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนจริง จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.มาตรา 12 ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหารวม 9 คนออกจากพื้นที่ภายใน 7 วันนับตั้งแต่ทราบคำสั่ง แม้กรณีดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 ก่อนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ แต่คำสั่งให้ออกนอกพื้นที่สามารถมีผลบังคับใช้ได้
อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2554 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปปป.ตร.) ร.ต.ท.สามารถ หิมวงศ์ อายุ 40 ปี และ ร.ต.ท.พิจิตร หยูหนู อายุ 30 ปี รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (รอง สว.กก.สส.บก.ภ.จว.นราธิวาส) พร้อมทนายความ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเลขาธิการ ศอ.บต. ต่อ บก.ปปป.ตร. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หลังจากมีคำสั่งย้ายพวกเขาออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายตำรวจทั้งสองระบุว่า สาเหตุที่ถูกคำสั่งย้ายออกนอกพื้นที่น่าจะมีมูลเหตุมาจากการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดและลักลอบค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ จ.นราธิวาส ตั้งแต่ปี 2552 และ 2553 ซึ่งไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องแต่กลับถูกร้องเรียน ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม แต่เลขาธิการ ศอ.บต.กลับใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ออกคำสั่ง ทั้งๆ ที่เรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้
พลิกปูมดาบอาญาสิทธิ์ ศอ.บต.
พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 เป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติฉบับแรกที่ออกมารองรับอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต.ตั้งแต่มีการตั้งหน่วยงานนี้เมื่อปี 2524 เป็นต้นมา ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
องค์กร ศอ.บต.ตั้งแต่ยุคนั้น มีอำนาจพิเศษที่ทำให้ ศอ.บต.เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ คืออำนาจการสั่งย้ายข้าราชการที่ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่ได้ทันที โดยทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ ศอ.บต. อำนาจนี้เสมือนเป็น “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่สามารถให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ชักช้า
ทว่าเมื่อ ศอ.บต.ถูกยุบไปในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2545) และตั้งขึ้นใหม่ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2549 กลับไม่มีอำนาจที่เป็นเสมือนดาบอาญาสิทธิ์นี้
กระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ผลักดันกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้) ให้มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2553 ได้มีบทบัญญํติในกฎหมายให้อำนาจเลขาธิการ ศอ.บต. (ผู้อำนวยการ ศอ.บต.เดิม) เสนอย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือถูกร้องเรียนจากประชาชนออกจากพื้นที่ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิ์การยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรี หรือยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : เมื่อ "พยาน" กลายเป็น "ผู้ต้องหา" ที่ชายแดนใต้ และอำนาจที่ถูกท้าทายของ ศอ.บต.