ส.นักข่าวจ่อชงเลิกประกาศคสช.จำกัดสิทธิสื่อ-ชี้ปม“ณาตยา”รุนแรงยอมไม่ได้
สมาคมนักข่าวฯ เตรียมเคลื่อนไหวชง สนช. เลิกประกาศ คสช. 97-103 สัปดาห์หน้า ชี้จำกัดเสรีภาพสื่อ-ประชาชน ยกปม “ณาตยา” โดนคุกคามรุนแรง ยอมไม่ได้ จี้ทบทวนใช้กฎอัยการศึกสร้างบรรยากาศปฏิรูป – นักข่าวภาคสนาม ผุดแคมเปญ “จริงใจปฏิรูป อย่าปิดปาก ประชาชน”
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การคุกคามและแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนของฝ่ายความมั่นคงว่า ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนท่าทีที่แสดงออกต่อสื่อมวลชนที่มีการคุกคามแทรกแซงสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ เพราะประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อนำสังคมไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง การแทรกแซงสื่อของฝ่ายความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ท่าทีต่าง ๆ ของสังคมที่มีความหลากหลาย โดยกรณีของ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ดำเนินรายการและบรรณาธิการข่าวสังคม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถือเป็นการคุกคามและแทรกแซงสื่ออย่างรุนแรง
"แม้ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนทีเคยมีอยู่แต่เดิมไว้ในมาตรา 4 จึงขอให้รัฐบาลกำชับไปยังฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังในการใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการต่าง ๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์" นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ น.ส.ณาตยา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนไทยไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรวม การแสดงออกด้วยวาจาของนายทหารที่ส่งผ่านไปยัง น.ส.ณาตยา และผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนเป็นเหตุให้ น.ส.ณาตยา ต้องยุติการทำหน้าที่พิธีกรของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นบรรยากาศที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป เพราะสื่อมวลชนเป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญที่สุดในการระดมความคิดเห็น และความต้องการของประชาชน แม้ฝ่ายความมั่นคงจะระบุว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้นายทหารคนดังกล่าวไปดำเนินการใด ๆ กับ น.ส.ณาตยา และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้
“ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงยุติการกระทำดังกล่าว เพื่อสร้างบรรยากาศในการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปสร้างประเทศไปสู่ความสันติสุข แม้จะมีความเห็นต่าง แต่ก็เป็นความเห็นที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องรับฟัง” นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนภาคสนาม ได้หารือกับเพื่อร่วมวิชาชีพว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนทุกแขนง และองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้มีการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ส่งผลกระทบไปยังสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น โดยการยกเลิกประกาศของ คสช. สามารถทำได้โดยการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
“หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลายของทุกฝ่ายในประเทศ สามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งการเสนอร่าง พ.ร.บ. โดยคณะรัฐมนตรีและ สนช. โดยสื่อมวลชนภาคสนามจะรวมตัวเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธาน สนช. และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อส่งความเห็นไปยังรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงถึงประเด็นดังกล่าว และยังเห็นว่ารัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงควรทบทวนการคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกโดยเร่งด่วน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างเสรี สร้างความเห็นร่วมกันของคนในประเทศ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการนำประเทศกลับไปสู่ความสันติสุข” นายมานพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค กลุ่มนักข่าวภาคสนามหลายรายต่างร่วมกันโพสต์ข้อความ “จริงใจปฏิรูป อย่าปิดปาก ประชาชน” พร้อมกับภาพปิดตา-ปิดหู-ปิดปาก โดยถือว่าเป็นปรากฎการณ์ “สึนามิสื่อ” ครั้งที่ 2 ภายหลังร่วมกันรณรงค์ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” มาแล้วก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ :
"พันเอก"อ้างคำสั่ง"นาย"ตบเท้าบีบThaiPBSถอด "ณาตยา-รายการเสียงปชช."
เบื้องหลัง!บทสนทนา "ทหาร"บีบผู้บริหารไทยพีบีเอสสะดุ้ง-"ณาตยา"ถอนตัว!
โฆษกทบ.เพิ่งรู้!ทหารบีบ TPBS ถอด "ณาตยา"-ยันคสช.ไม่ได้สั่งปล่อยทำกันเอง
บอร์ดไทยพีบีเอส อ้างหนุน"ณาตยา"ทำหน้าที่สื่อ แต่ยอมเปลี่ยนตัว "พิธีกร"
แง้มห้องประชุมไทยพีบีเอส! ล้วงเหตุผลเปลี่ยนตัวพิธีกรปกป้อง"ณาตยา"