ชะตากรรม “พิราบ” บนปากกระบอกปืน
“…สำหรับกองบรรณาธิการ แม้ยังไม่ถูก คสช. ไล่บี้มาโดยตรง แต่จากประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ก็ทำให้ “รีไรท์เตอร์” หรือหัวหน้าข่าว เลือกที่จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องความกระด้างกระเดื่อง … หนักเข้าถึงกับมีหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เจ้าของกิจการส่งอีเมลภายในถึงทุกโต๊ะข่าวว่า “ห้ามลงข่าวที่กระทบต่อ คสช. …”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นบทความที่ตีพิมพ์ในจุลสารราชดำเนิน ฉบับที่ 28 เดือนตุลาคม 2557 ชื่อบทความ "ชะตากรรม "พิราบ" บนปากกระบอกปืน" เขียนโดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ
----
หน้าที่ของ “ผู้สื่อข่าว” คือการ “บันทึกประวัติศาสตร์” และการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้
การยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์โดยตรง โดยเฉพาะคำสั่ง-ประกาศข้อห้ามต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องปรับตัวขนานใหญ่ … แม้แต่ “ราชดำเนิน” ก็ใช่ว่าจะอยู่เหนือข้อจำกัดนี้ไปได้
ในเมื่อหน้าที่ของเราคือการบันทึกประวัติศาสตร์ และ “อุปสรรค” ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าต่อการบันทึก โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวภาคสนามและข้อจำกัดของกองบรรณาธิการด้วยแล้ว เราจึงต้องใช้พื้นที่แห่งนี้บันทึกไว้
อุปสรรคการเข้าถึงแหล่งข่าว
วัฒนธรรมของเมืองไทยที่สืบทอดกันมาคือการเคารพผู้อาวุโสและความเกรงใจต่อผู้ที่มีอำนาจ โดยเฉพาะยามนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ “แหล่งข่าว” รายอื่น ๆ ไม่กล้าล้ำเส้นให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวจึงได้รับผลกระทบโดยตรง
การแถลงข่าวประจำวันของทีมงานโฆษก คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนำโดย พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (ขณะนั้น) ก็มักไม่ตอบคำถามในประเด็นการเมืองและประเด็นที่เป็นอำนาจการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นเดียวกับ “บิ๊กข้าราชการ” ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ที่ไม่กล้าให้รายละเอียดใด ๆ เพราะหาก “ล้ำเส้น” ย่อมมีผลต่อตำแหน่ง
แม้แต่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง นาทีนี้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถเข้าไปสัมภาษณ์ได้เหมือนก่อน ได้แต่มองเห็นไกล ๆ รวมถึงเหล่าบิ๊กสีเขียว ตั้งแต่ระดับรองหัวหน้า คสช. ลงมา ก็ไม่มีทางที่ผู้สื่อข่าวจะเข้าถึงเพื่อขอสัมภาษณ์พิเศษได้
เมื่อแหล่งข่าวกลัวการสัมภาษณ์
ภายหลังการยึดอำนาจ “แหล่งข่าว” จำพวกนักการเมืองส่วนใหญ่ถูกเรียกเข้าไปรายงานตัวกับ คสช. และกลับออกมาพร้อมเงื่อนไข-ข้อจำกัด โดยเฉพาะการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามปลุกปั่นยั่วยุ ที่ทำให้แหล่งข่าวเหล่านี้หวาดผวาในการสัมภาษณ์ เพราะทุกคำพูดสุ่มเสี่ยงจะถูกตีความให้เข้าเงื่อนไขต้องห้ามได้ทั้งสิ้น
72 ชั่วโมงหลังการยึดอำนาจ “นักวิชาการ” ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ถูกเรียกให้เข้าไปรายงานตัว ส่วน “นักการเมือง” พรรคเพื่อไทยยินยอมที่จะพูดคุยแบบ “ออฟเรคคอร์ด” กับผู้สื่อข่าวประจำพรรคเท่านั้น แต่หากขอให้เปิดชื่อ-เปิดเหน้าทุกรายล้วนปฏิเสธ … “อย่าเลย คสช. ปล่อยตัวมาก็บุญแล้ว”
กระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านไปร่วม 1 เดือน เริ่มปรากฏความกล้าของ “แหล่งข่าว” มากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งข่าวที่บทสัมภาษณ์ไม่เป็นปฏิปักษ์กับ คสช. เช่น นักวิชาการที่ออกมาแสดงความเห็นด้านการปฏิรูป
การเซ็นเซอร์เนื้อหา-คำพูด
ผู้สื่อข่าวภาคสนามส่วนใหญ่บอกกับ “ราชดำเนิน” ในทิศทางเดียวกันว่า สำหรับ “ข่าว” นั้นไม่ได้ระมัดระวังในการใช้ภาษาหรือถ้อยคำอะไรมากนัก แหล่งข่าวสื่อสารมาอย่างใดก็พิมพ์ไปตามนั้น ซึ่งแตกต่างกับบทวิเคราะห์หรือรายงานพิเศษที่อาจต้องควบคุมความหวือหวา
แต่สำหรับกองบรรณาธิการ แม้ยังไม่ถูก คสช. ไล่บี้มาโดยตรง แต่จากประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ก็ทำให้ “รีไรท์เตอร์” หรือหัวหน้าข่าว เลือกที่จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องความกระด้างกระเดื่อง โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่ “ล่อแหลม” เช่น “ยึดอำนาจ” “ปฏิวัติ” ที่จะเปลี่ยนมาเป็น “เข้าควบคุมอำนาจ”
รวมถึงคำว่า “ล้างบาง” ที่หนังสือพิมพ์หัวใหญ่ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวตัวไม้ หลัง คสช. เริ่มโยกย้ายข้าราชการสายพรรคเพื่อไทย ก็ถูก คสช. ขอร้องให้เลิกใช้กลางวงประชุมระหว่าง คสช. กับบรรณาธิการสื่อ
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเซ็นเซอร์เนื้อหา โดยลดพื้นที่การนำเสนอของ “กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร” แต่เน้นกิจกรรมคืนความสุขแทน หนักเข้าถึงกับมีหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เจ้าของกิจการส่งอีเมลภายในถึงทุกโต๊ะข่าวว่า “ห้ามลงข่าวที่กระทบต่อ คสช. และขอยกคอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษแหล่งข่าวไปก่อน และหากเกิดเรื่องทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบ”
ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์เท่านั้นที่ต้องปรับตัว … บนโลกออนไลน์-เว็บไซต์ข่าวต่าง ๆ ก็ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สอดส่องการนำเสนอข่าว
มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งได้นำเสนอข่าวของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียศึกษา ซึ่งถูกกระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางและถูกออกหมายจับโดยทันทีที่ข่าวนำเสนอออกไป เจ้าหน้าที่ไอซีทีได้ติดต่อมายังผู้ดูแลเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อให้ลบข่าวชิ้นนี้ทิ้ง
แม้ว่าจะปรับตัวถึงขั้นยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ก็ยังมีผู้สื่อข่าว-หัวหน้าข่าว-คอลัมนิสต์ บางรายที่ถูก คสช. เชิญในทางลับ เพื่อขอความร่วมมือ และสอบถามทัศนคติทางการเมืองเป็นรายบุคคล
แม้แต่นักข่าวโทรทัศน์บางรายก็ถูก คสช. เชิญไปให้ข้อมูลด้วย
ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริง … คือชะตากรรมของเหล่า “พิราบ” บนปากกระบอกปืน
อ่านประกอบ :
ย้อนรอย ‘อารยะ’ ขัดขืน (นัก) หนังสือพิมพ์ในอ้อมกอดเผด็จการ
มรดกรัฐประหาร เมื่อ “ปืน” มา … “สื่อ” ก็เงียบเสียงลง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก จุลสารราชดำเนิน ฉบับที่ 28 ต.ค. 2557