ป.ป.ช.สอบอดีตนายกอบต.กมลา-พวก บูรณะเขื่อนแพงเกินจริง 3.2 ล.
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวน อดีตนายก อบต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต-พวก รวม 11 ราย จัดจ้างเอกชนบูรณะเขื่อนหิน ไม่กำหนดราคากลางตามแบบ แพงกว่าเดิม 3.2 ล้าน ไม่ควบคุมงานก่อสร้าง และตรวจรับงานตามสัญญา ก่อสร้างไม่เป็นตามแบบ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตั้งองค์คณะพนักงานไต่สวน นายจรัล สารรักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กมลา และพวกรวม 11 คน กรณีการจัดจ้างโครงการก่อสร้างบูรณะเขื่อนหินคอนกรีตสำเร็จรูปริมคลองนอกเลของ อบต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กำหนดราคากลางโดยไม่ได้คำนวณมาจากการถอดแบบรูปรายการ ไม่ควบคุมงานก่อสร้าง และตรวจรับงานให้เป็นไปตามรูปแบบรายการและข้อกำหนดในสัญญา ไม่ขอแก้ไขแบบรูปรายการต่อเจ้าของงบประมาณและหรือผู้ว่าจ้างในกรณีที่มีการคำนวณราคาค่างานเพิ่ม-ลด สำหรับการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้าง
โดยในกรณีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 11 คน คือ 1.นายจรัล 2.นายการุณ ศรีเด่น รองนายก อบต.กมลา 3.นายสนธยา สุนธารักษ์ รองนายก อบต.กมลา 4.นายสุวิทย์ คุมลักษณ์ รองนายก อบต.กมลา 5.นายสันติ อรรถทรัพย์ รองนายก อบต.กมลา 6.นายบำรุง พิมลรัตนกานต์ หัวหน้าส่วนโยธา 7.นายจีรนัย สืบโสตร นายช่างโยธา 4 8.นายรัฐพงศ์ อักษรวงศ์ นายช่างผังเมือง 3 9.นายธนัง ชูชาติ ผู้ช่วยนายช่างผังเมือง 10.นางจรีย์ โภคบุตร ผู้แทนฝ่ายกลุ่มประชาชน หมู่ที่ 3 11.นายอธิคม อะนะบุหรง ผู้แทนฝ่ายกลุ่มประชาชน หมู่ที่ 6
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดย สตง.ภูมิภาคที่ 13 (จ.สุราษฎร์ธานี) ได้ตรวจสอบสืบสวนโครงการก่อสร้างบูรณะเขื่อนหินคอนกรีตสำเร็จรูปริมคลองนอกเล ของ อบต.กมลา ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2548 วงเงินงบประมาณ 26,465,000 บาท พบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการดังกล่าว มีพฤติการณ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ อบต.กมลา ดังนี้
1.1 คณะกรรมการกำหนดราคากลาง ประกอบด้วย นายจรัล นายการุณ นายสนธยา นายบำรุง นายจีรนัย นายรัฐพงศ์ และนายธนัง ได้ร่วมกันกำหนดราคากลางไว้เป็นเงิน 26,465,000 บาท โดยไม่ได้คำนวณมาจากการถอดแบบรูปรายการ แต่นำมาจากราคาที่นายธนัง ผู้ออกแบบโครงการได้เคยประมาณราคาไว้สำหรับเป็นเอกสารประกอบการของบประมาณโครงการนี้ มาใช้กำหนดเป็นราคากลาง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางงานก่อนสร้าง เป็นเหตุให้ อบต.กมลา ต้องทำสัญญาจ้างสูงกว่าความเป็นจริง เป็นเงิน 3,266,629 บาท
1.2 ผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ได้ควบคุมงานก่อสร้างและตรวจรับงานให้เป็นไปตามรูปแบบรายการและข้อกำหนดในสัญญา
1.3 เมื่อผู้ควบคุมงานได้คำนวณราคาค่างาน เพิ่ม-ลด กรณีที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญาแล้ว สรุปได้ว่า ราคางานลดลงจากสัญญา เป็นเงิน 571,495 บาท และได้นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างและนายก อบต.กมลา ในฐานะผู้ว่าจ้าง ซึ่งได้รับการอนุมัติตามที่เสนอ ต่อมาเมื่อมีการจ่ายเงินค่าจ้างและได้ตัดเงินส่วนนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ขอแก้ไขแบบรูปรายการต่อเจ้าของงบประมาณและหรือผู้ว่าจ้าง ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของ อบต. พ.ศ.2538 (แก้ไขเพิ่มเติม) ข้อ 48 และข้อ 49
1.4 หจก.ณัฏฐนนท์ ซัพพลาย ผู้รับจ้าง ได้ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญาเป็นเวลา 31 วัน ซึ่งผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามรายงานการควบคุมงานระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548-31 ธันวาคม 2548 พบว่า ผู้รับจ้างได้เข้าไปปฏิบัติงานจ้างตามสัญญามาโดยตลอด มีบันทึกลายมือชื่อผู้ควบคุมงานทั้งฝ่ายผู้รับจ้างและฝ่ายผู้จ้างไว้เป็นหลักฐาน จึงไม่มีเหตุที่จะงดค่าปรับได้ และเสนอให้ปรับผู้รับจ้างตามสัญญาวันละ 26,465 บาท รวมเป็นเงิน 820,415 บาท แต่นายจรัล ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับจ้าง โดยการสั่งให้จ่ายเงินค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างเต็มจำนวน ไม่มีการหักค่าปรับ เป็นเหตุให้ อบต.กมลา ได้รับความเสียหาย