อีกกม.ที่ดีมากฉบับหนึ่ง 'ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์'
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์เฟชบุคถึงความคืบหน้า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับต่างๆ ของสนช.โดบเฉพาะ ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.. ผ่านสภาในวาระรับหลักการแล้วเมื่อ ๑๓ พ.ย.๒๕๕๗ เป็นร่างกม.ที่ดีมากฉบับหนึ่ง แม้จะเป็นกม.ที่จัดตั้งกองทุนเหมือนอีกหลายฉบับที่ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณฯ แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์แล้วนับว่าคุ้มค่ามาก สื่อในที่นี้ครอบคลุมสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ การแสดง สื่อคอมพิวเตอร์ หรือ social media และอื่นๆ
โดยที่ในปัจจุบันสื่อต่างๆมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น สื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนมีน้อย การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งไม่เป็นที่นิยมของผู้ผลิตและผู้สนับสนุนการผลิตสื่อ ทำให้ขาดเงินทุนในการผลิตและการเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพฤติกรรมที่ดีของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
เกิดขึ้นเนื่องจากพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ (กสทช.) ในม.๕๒ เขียนว่า ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงานกสทช.เรียกว่า "กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม" เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (๕) สนับสนุนการดำเนินการตามกม.ว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนฯ จึงเป็นที่มาของร่างกม.ฉบับนี้
แต่การที่ไม่ได้ระบุอัตราส่วนที่แน่นอนเหมือนกองทุนสสส.และไทยพีบีเอส (ซึ่งก.คลังต่อต้านว่าผิดหลักการงบประมาณมาโดยตลอด) กม.ฉบับนี้จึงเขียนให้รายได้ของกองทุนอีกส่วนหนึ่งมาจากค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงตามกม.ว่าด้วยลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นของกองทุน เพื่อให้กองทุนมีเงินหมุนเวียนเพียงพอ มีบอร์ดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นปธ.และบอร์ดเล็กที่มีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปช่วยเป็นกรรมการและอนุกรรมการตามสูตรของกองทุนต่างๆ และมีผู้จัดการกองทุนซึ่งบอร์ดใหญ่เป็นผู้แต่งตั้ง เลียนแบบสสส.
เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมาก ในยุคที่ที่เด็กและเยาวชนในปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับโทรศัพท์และsocial mediaที่เป็นสื่อต่างๆรอบตัว ซึ่งนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จนเด็กและเยาวชนขาดปฏิสัมพันธ์ุกับคนในครอบครัว เพิ่มปัญหาสังคมทำให้หวนคิดไปถึงยุค "บวร"หรือบ้าน วัด โรงเรียน ในอดีตซึ่งมีบทบาทในการอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนจนกลายมาเป็นผู้ใหญ่ในยุคพวกเรา
ที่มาภาพ:http://www.childmedia.net/