ชาวบ้านลุ่มน้ำอีสาน-เอ็นจีโอ-นักวิชาการ ชี้โมเดลจัดการน้ำรัฐ “ล้มเหลว”
คนอีสานลุ่มน้ำโขง ชี ห้วยหลวง หนองหาน ลำพะเนียง แก่งละว้า ถกร่วมกับนักวิชาการ-เอ็นจีโอ วิพากษ์บทเรียนจัดการน้ำขนาดใหญ่รัฐรวมศูนย์-ล้มเหลว เตรียมเสนอโมเดลใหม่ “รบ.ปูแดง” คืนอำนาจการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร-คำนึงถึงภูมินิเวศพื้นที่
วันที่ 4 ก.ย. 54 เวลา 13.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน จัด “เวทีวิชาการวิพากษ์นโยบายการจัดการน้ำและบทเรียนจากประสบการณ์ชุมชนอีสาน” โดยเชิญชาวบ้านจาก ลุ่มน้ำโขงอีสาน ชี ห้วยหลวง หนองหาน ลำพะเนียงและแก่งละว้า กว่า 300 คน ร่วมถอดบทเรียนและเสนอโมเดลการจัดการน้ำทางเลือกเสนอรัฐบาลใหม่
ทั้งนี้มีการอภิปรายนโยบายการจัดการลุ่มน้ำของรัฐบาล ทั้งในภาพรวม และโครงการการจัดการน้ำในอีสาน อาทิ การผันน้ำข้ามประเทศ น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำในภูมิภาค ระบบเครือข่ายน้ำพื้นที่วิกฤต 19 พื้นที่ ซึ่งชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาของแต่ละพื้นที่อย่างกว้างขวาง
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า การจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐสะท้อนการพัฒนาที่เกินความจำเป็น คนชนบทอีสานไม่ได้ต้องการน้ำปริมาณมากๆอย่างที่รัฐคิด น้ำที่มีอยู่เพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันกระบวนการจัดการน้ำของรัฐยังรวมศูนย์อำนาจ ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ที่สำคัญคือละเลยการมองมิติความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน ภูมิปัญญาและภูมินิเวศเฉพาะแต่ละพื้นที่ ฉะนั้นทางออกของการจัดการน้ำที่จะสร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและคืนอำนาจการตัดสินในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อให้มีการจัดการน้ำในระดับย่อยกระจายตัวให้เหมาะสมสอดคล้องกับภูมินิเวศและวิถีชีวิตแต่ละพื้นที่
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ภาคอีสานลักษณะของการเกษตรจะต่างกับการเกษตรในภาคกลางโดยสิ้นเชิง ถ้าไปทำนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม บางที่สูบน้ำในช่วงหน้าแล้ง เกลือก็ตามมา ทำให้ข้าวตาย ซึ่งมีบทเรียนจากโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ทั้งนี้โครงการโขงชีมูลที่มีการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนราษีไศล และเขื่อนอื่นๆ จะมีเพียงบางเขื่อนเท่านั้นที่สามารถสูบน้ำได้จากน้ำมูล น้ำชี มาใช้ได้ พฤติกรรมการเกษตรในภาคอีสานเกือบจะทั้งหมดต้องทำนาโดยการใช้น้ำจากธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำในระบบชลประทาน
นายวิเชียร ศรีจันนนท์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลยกเลิก หยุด ชะลอโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาการจัดการน้ำตามแนวทางของรัฐบาลสร้างผลกระทบทางลบมากกว่าประโยชน์ที่รัฐได้บอกกับชาวบ้านไว้ ดังเช่นบทเรียนที่ลำพะเนียง ระบบนิเวศเสื่อมโทรม ทรัพยากรที่เคยมีอยู่หลากหลายเคยเป็นอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและสร้างรายได้ชาวบ้าน วันนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่มีใครจะเข้ามารับผิดชอบให้ชาวบ้าน
นายคงเดช เข็มนาค กรรมการกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า กล่าวว่าโครงการจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมา มีการสร้างคันดินล้อมรอบแก่งเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงแก่งละว้าได้ น้ำเอ่อล้นท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้าน ดังนั้นรัฐจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและเยียวยาจากนโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐที่ล้มเหลว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านจากพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ และนักวิชาการในเวทีมีความเห็นร่วมกันว่า แต่ละพื้นที่ต้องกลับไปประมวลสถานการณ์และถอดบทเรียนของพื้นที่ตนเอง จัดทำข้อมูลระดับพื้นที่ที่ถูกต้อง ชัดเจน แล้วนำเสนอเป็นทางเลือกในการจัดการน้ำให้กับรัฐบาลต่อไป .