'ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์' ศศิน เฉลิมลาภ เสนอทางเลือกจัดการน้ำ ยันประหยัดงบฯ ได้ถึง 5 เท่า
ไม่ค้านอย่างเดียว เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับทำเกินหน้าที่นักอนุรักษ์ ออกมาเสนอทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ เผยคุ้มค่าและประหยัดกว่าสร้างเขื่อนถึง 5 เท่า
เมื่อเร็วๆ นี้ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดแถลงข่าวสื่อมวลชนเรื่อง”ทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์” ณ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นายศศิน กล่าวถึงวันที่19 พฤศจิกายน 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมจัดการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)เพื่อพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือ EHAI โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ หลังจากที่ผ่านมาทางมูลนิธิสืบฯมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พร้อมยืนยันว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่มีความคุ้มค่าและยังจะทำลายระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นที่มาการคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด แต่กลับมีคำถามมาว่าค้านไม่เอาเขื่อนแล้วทำไมไม่เสนอทางเลือก
“ที่จริงการเสนอทางเลือกเป็นสิ่งที่เกินหน้าที่ของคนอนุรักษ์ เราดูแลผืนป่าสนใจระบบนิเวศน์ป่าไม้ธรรมชาติ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำ คนที่ต้องเสนอทางเลือกต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำเป็นวิศวกร”
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวถึงการศึกษาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่า ในเมื่อถามหาทางเลือกแม้จะเกินความสามารถของตนเองแต่ก็พยายามปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่วิศวกรรมสถานรวบรวมข้อมูลและได้ทางเลือกมา ดังนี้
พื้นที่แม่วงก์ตอนบน ต้องมีการจัดการน้ำหลากและในระยะแรกจำเป็นต้องซ่อมแซมฝายและประตูระบายน้ำที่ชำรุด ที่สำคัญต้องขุดลอกลำคลองตอนกลางที่มีสิ่งกีดขวางกว่า 40 จุด รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการประตูเปิด-ปิดน้ำตามคลองสาขาให้เป็นระบบ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านจัดการกันเอง
ส่วนพื้นที่แม่วงก์ตอนล่างก็ให้มีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ขอบเขาเพื่อกักเก็บและเติมน้ำในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งบางทางเลือกในบางชุมชนก็มีการจัดการไปบางส่วนแล้ว
“ทางเลือกที่ได้ศึกษาและนำเสนอในการจัดการน้ำใช้เงินเพียง 2 พันล้านบาท ในขณะที่การสร้างเขื่อนต้องใช้เงินสูงถึง1.3หมื่นล้านบาท ดังนั้นจะเห็นว่าทางเลือกในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือการทำฝายจะช่วยให้เราประหยัดเงินประเทศได้ถึง 5 เท่า และที่สำคัญไม่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ของผืนป่า ได้ประโยชน์ระดับใกล้เคียงกัน”
เมื่อถามว่าจะมีวิธีการใดบ้างที่ยับยั้งการพิจารณาโครงการนี้ได้นายศศิน กล่าวว่า ต้องให้กรมชลประทานหรือรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นคนสั่งถอดรายงาน EHAI ฉบับนี้ออกจากการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดการน้ำทางเลือก ที่ทางมูลนิธิสืบฯได้จัดทำขึ้น ให้ประชาชนพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จะมีการนำส่งให้กับคชก.ภายในวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.นี้ก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาและยังหวังว่าคชก.จะได้พิจารณารายงานฉบับนี้อย่างรอบคอบที่สุด และในวันที่19 พ.ย. นายศศินจะเดินทางไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กำลังใจการทำงานของคชก.ด้วย
ขอบคุณภาพจากเดลินิวส์