สตง.ล่ามือถลุงงบพันล.แจกคูปอง2พันบ.ซื้อสินค้าเบอร์5ช่วงน้ำท่วมยุค"ปู"
สตง.ไล่ล่าตัวผู้รับผิดชอบถลุงงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพันล้าน ทำโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัย มอบ"คูปอง"ส่วนลดซื้อสินค้าประหยัดพลังงาน 2,000 บาท สมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เผยทำเรื่องทักท้วงไปหลายครั้ง ใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กฤษฎีกาชี้ขาดไม่เคยฟัง - ชง "สนช."ตั้งอนุกรรมาธิการพิจารณาแล้ว
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้ สตง.อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ 5 เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยด้วยการมอบคูปองส่วนลดซื้อสินค้าประหยัดพลังงานมูลค่า 2,000 บาท ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งวงเงินงบประมาณในการดำเนินงานโครงการนี้ไว้จำนวน 2,100 ล้านบาท ซึ่งพบว่าในขั้นตอนการดำเนินงานมีความไม่ถูกต้องในหลายประเด็น
โดยเฉพาะการพิจารณาจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งปรากฎชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นประธานกองทุนฯ ซึ่งสตง.เห็นว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนฯ ขณะที่กระบวนการจ่ายแจกคูปองก็มีความหละหลวม
ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีความเห็นออกมาแล้วว่ารัฐบาลไม่สามารถนำเงินกองทุนฯ ไปใช้ดำเนินการโครงการนี้ได้ และให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาเพื่อจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล้าวแก่กองทุนฯต่อไป แต่ก็ยังมีการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนฯมาใช้อย่างต่อเนื่อง
"ในช่วงเดือนพ.ค.2555 สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งให้มีการชะลอเบิกจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่ร้านค้าไว้ก่อน และให้พิจารณาทบทวนการจัดสรรเงินกองทุนตามโครงการดังกล่าวไว้ เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างเคร่งครัด แต่ผู้รับผิดชอบโครงการก็ไม่ดำเนินการใดทั้งสิ้น อ้างว่าสามารถดำเนินการได้ "
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ล่าสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2556 สตง.ได้ทำหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามข้อทักท้วงของสตง.แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไร โดยปัจจุบันยอดการเบิกจ่ายเงินโครงการนี้ ณ วันที่ 4 ก.ย.2557 อยู่ที่จำนวน1,301.072 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น และจะต้องมีผู้รับผิดชอบ
"หลังการรัฐประหารสตง.ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาอีกครั้ง พร้อมส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา และมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมสนช.เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2557 โดยที่ประชุมมีมติให้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน"
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก emco.or.th