ปรากฏการณ์ “ลักเหนียวไก่” สะท้อนสังคมฉาบฉวย-รู้ไม่เท่าทันสื่อ
“วันนี้สื่อซับซ้อนขึ้น เนียนขึ้น และเข้ามาในหลายมิติ ถ้าเด็กรุ่นต่อไปไม่รู้จักตั้งคำถาม ไม่รู้เท่าทันสื่อ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงมากกว่าการโพสต์คลิป”
ปรากฏการณ์เด็กหญิงจากจังหวัดสตูลวัย 15 โพสต์คลิป “ลักเหนียวไก่” บนสื่อโซเชียล มีคนกดไลค์ถูกใจหลายแสนคน จนกลายเป็นเรื่องเม้าท์โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนทั้งในและนอกโซเชียลเน็ตเวิร์ค
แรกๆอาจดูขำขำ แต่เมื่อถูกนำเสนอเป็นประเด็นข่าวมากขึ้น เริ่มมีการตั้งคำถามจากสังคมและสื่อมากขึ้นเช่นกันว่า ...มากเกินไปไหม เหมาะสมแค่ไหน หรือสังคมได้อะไร? เพราะนี่ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดในสังคมไทย
“ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการด้านสื่อ มองปรากฏการณ์คลิปล่าเหนียวไก่ว่า นี่คือภาพสะท้อนความฉาบฉวยของสังคมและภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
“ล่าเหนียวไก่ แรกๆคนอาจรู้สึกสนุกขำขำ แต่มากเข้าคนเริ่มตั้งคำถามว่ามากเกินไปมั๊ย เหมาะสมแค่ไหน สื่อเองก็เริ่มตั้งคำถามกับภาพข่าวและคลิปประเภทเหล่านี้มากขึ้น นี่คือภาพสะท้อนสังคมฉาบฉวย เพราะสังคม ผู้บริโภคสื่อ เสพสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ง่ายขึ้น แต่บางส่วนไม่ได้ตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่าดีไม่ดี จริงไม่จริง ควรเสพไม่ควรเสพมากน้อยแค่ไหน”
“ดร.มานะ” ชี้ว่า ทางแก้ปัญหาคงต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคสื่อตั้งแต่เด็ก เพราะคลิปดังกล่าวเด็กเป็นคนส่งสื่อและเสพสื่อด้วยตนเอง เช่นเดียวกับคลิปหลายคลิปก่อนหน้านี้ที่เด็กรุ่นใหม่ทำขึ้นมาเพื่อระบายอารมณ์โดยขาดภูมิความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ว่าสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาได้
“โลกออนไลน์กลายเป็นถังขยะอารมณ์ของเด็กบางส่วน เขาหงุดหงิด ทะเลาะกับเพื่อน ทะเลาะกับครู กับพ่อแม่ ก็ไประบายกับโซเชียลมีเดีย โดยความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อ เช่น น้องคนนี้อาจแค่รู้สึกเจ็บใจ อยากระบายเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าจะมีผลต่อเนื่องตามมาอย่างไร ยังดีว่าผลต่อเนื่องยังดี แต่มีหลายกรณีผลต่อเนื่องตามมาไม่ดีจากความหงุดหงิดแล้วระบาย ตรงนี้เป็นข้อพึงระวังสำหรับเด็กและเยาวชน”
“หากเด็กไม่รู้เท่าทันสื่อก็กลายเป็นเหยื่อได้ง่าย ฉะนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องให้ความรู้ เด็กก็ต้องเรียนรู้ ขณะเดียวกันรัฐก็ควรจะมีมาตรการในการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชน มีการเรียนการสอนในการรู้เท่าทันสื่อ ฝึกให้เด็กและเยาวชนตั้งคำถาม เพราะวันนี้สื่อซับซ้อนขึ้น เนียนขึ้น และเข้ามาในหลายมิติ ถ้าเด็กรุ่นต่อไปไม่รู้จักตั้งคำถาม ไม่รู้เท่าทันสื่อ นี่คือสิ่งที่น่าห่วงมากกว่าการโพสต์คลิป” นักวิชาการสื่อกล่าว
นอกจากนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังสะท้อนเรื่องภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป เพราะก่อนหน้านี้ผู้ที่กำหนดวาระข่าวสารคือนักข่าวหรือกองบรรณาธิการข่าว แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคภูมิทัศน์สื่อแบบใหม่ ประชาชนทั่วไปสามารถกำหนดวาระข่าวสารของตัวเองและสื่อสารผ่านช่องทางสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็หันมาให้ความสนใจกับคลิปมากขึ้น จำนวนหนึ่งหยิบเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์มารายงานข่าวในเชิงที่เป็นประโยชน์กับสังคม เช่น กรณีจีที200 จุดประเด็นมาจากห้องว้ากอในพันทิพย์ มีการตั้งคำถามเรื่องเครื่องจับวัตถุระเบิด จนมีนักข่าวเข้าไปใช้ทักษะของความเป็นสื่อมืออาชีพสืบค้นข้อมูล ขยายผลการทำงานเชิงลึก
อย่างไรก็ตามช่วงหลังมานี้ สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่นำคลิปที่มีการเผยแพร่ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่งมานำเสนอโดยไม่ได้มีการตั้งคำถาม ไม่ได้มีการตรวจสอบแหล่งข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์
“การที่หยิบประเด็นในโซเชียลมีเดียมานำเสนอเพราะเห็นว่าอย่างน้อยมีหลักประกันว่าคนชอบ คนนิยม แชร์กันเยอะ หรือเพื่อต้องการดึงกระแสมาอยู่ในเว็บเพจ อยากให้คนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บเยอะๆ แต่ลืมเรื่องการตั้งคำถาม ตรวจสอบ หรือตามต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบ”
เช่นเดียวกับสื่อทีวีดิจิทัลที่มีการแข่งกันสูง แพลตฟอร์มเยอะ เนื้อหาข่าวเมื่อไม่ค่อยมีการแข่งขันกันเรื่องฮาร์ดนิวส์ เลยหันมาเน้นเรื่องซอฟท์นิวส์ หยิบประเด็นจากโซเชียลมีเดียลมานำเสนอจนเริ่มเข้าข่ายล้วงลูก กลายเป็นสำนักข่าวถ้ำมอง หยิบข้อมูลส่วนบุคคลในโลกโซเชียลมานำเสนอเกินขอบเขตจนมีการตั้งคำถามเรื่องจริยธรรมสื่อ
“ที่เห็นล่าสุดขณะนี้คือหยิบเอาคลิปวินาทีสุดท้ายของคนมานำเสนอมากขึ้น เพื่อดึงความสนใจให้คนมาดูหน้าเว็บหรือหน้าทีวี เช่น คลิปสุดท้ายของคนขับรถยนต์ตัดทางรถไฟ ถ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือยายที่กระโดดลงไปให้จระเข้กัด วินาทีสุดท้ายกลายเป็นเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำ นำเสนอต่อเนื่องผ่านสื่อออนไลน์ ทีวี ซึ่งเยาวชนเสพรับและเผยแพร่ได้ง่าย”
“นี่คือเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกับสื่อมวลชนเรื่องเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสื่อก็ต้องวางกรอบกติกากันเอง ถ้าไม่ทำ วันหนึ่งคนของรัฐหรือหน่วยงานอื่นเขาเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วทำอะไรบางอย่าง จะน่าห่วงกว่านี้
“ที่สำคัญ หากเรายังไม่ได้ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนและสื่อไม่ตระหนักเท่าที่ควร ก็จะทำให้ก่อปัญหาในสังคมตามมาจำนวนมาก”ดร.มานะ สรุปทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพจาก:thumbsup.in.th