ไร้เงา"วิรัช"ประชุม กพค. "วิษณุ" แจงรอ ก.ต.ชี้ 17 พ.ย. -"สุวณา"งดให้ข่าว
ไร้เงา"วิรัช ชินวินิจกุล"รองปธ.ศาลฎีกาประชุม กพค.นัดแรก "วิษณุ"แจงรอ ก.ต.พิจารณา 17 พ.ย.นี้ ด้าน "สุวณา" ปัดตอบปมขัด พ.ร.บ.ระเบียบ ขรก.ตุลาการหรือไม่ อ้าง รมต.ให้ข่าวไปแล้ว
จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกาให้ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) โดยที่ยังไม่เคยมีการส่งเรื่องขอตัวนายวิรัช จากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)
ล่าสุด วันที่ 13 พ.ย.2557 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราสอบถามนายวิษณุถึงกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) ว่าทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)
นายวิษณุกล่าวว่าวันนี้นายวิรัชก็ไม่ได้มาร่วมประชุมและ ได้ทราบว่า ก.ต. จะประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 17 พ.ย. 2557 ซึ่ง มติ ครม. ก็มีมติ ชัดเจนแล้วว่าตั้งใครบ้างเป็นกรรมการ มีบางรายที่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต. ก็ต้องรอให้ความเห็นชอบเสียก่อนก็ชัดเจน ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สรุปแล้วทำได้หรือไม่นายวิษณุกล่าวย้ำว่า ก็ต้องรอผลการประชุมของ ก.ต.วันที่ 17 พฤศจิกายนนี้
ขณะที่ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า "เรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีได้ให้ข่าวไปเรียบร้อยแล้วก็ตามนั้นเลย"
ผู้สื่อข่าวถามว่าเกิดคำถามว่าการเสนอชื่อนายวิรัช อาจผิดหรือขัดต่อ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมหรือไม่ นางสุวณากล่าวว่า “ท่าน รมต. พูดชัด แล้วท่านก็บอกดิฉันว่าก็ถือว่าให้ยุติตามที่ท่านให้ข่าว”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ไม่ได้แถลงหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีที่มีการเสนอชื่อนายวิรัชแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ จำนวน 9 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพค.ที่หมดวาระ ปรากฎชื่อ นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ร่วมอยู่ด้วย ขณะที่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59(3) ระบุว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ตุลาการตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด
(อ่านประกอบ : จับตา"วิรัช"ฝ่ามติ ก.ต.ร่วมประชุม กพค.นัดแรก-วิษณุนั่งหัวโต๊ะปธ.13พ.ย.นี้ )
(ครม.ตั้งรองปธ.ศาลฎีกาเป็นกรรมการคดีพิเศษส่อขัด กม.-ก.ต.ยังไม่เห็นชอบ)
(ปธ.ศาลฎีกาย้ำจุดยืนผู้พิพากษาเป็นกลาง-อิสระ หลังถูกดึงนั่งกุนซือ"รมต.-สนช.")