รมว. คมนาคม เผยความคืบหน้ารถไฟรางคู่ ชี้จีนสนใจร่วมทุน คาดธ.ค.เซ็น MOU
รมว.คมนาคม เผยความร่วมมือด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน -เขตเศรษฐกิจไทย-จีน เตรียมชง รถไฟรางคู่เข้า ครม. 18 พ.ย.นี้
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการประชุมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมี นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงาน และพิจารณาแก้ไขปัญหา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด่านศุลกากร และการบริหารจัดการด่านชายแดน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคให้มีคุณภาพดี สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลักของประเทศ รวมถึงบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการเดินทางข้ามพรมแดน ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1. อ.แม่สอด จ.ตาก 2. อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 3. พื้นที่ชายแดน จ.ตราด 4. พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร และ 5. อ.สะเดา จ.สงขลา (ด่านศุลกากรสะเดา และปาดังเบซาร์)
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศให้เชื่อมโยงโครงข่ายหลักของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 ตาก - แม่สอด ตอน 4 และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 รวมทั้งออกแบบขยาย ทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจร ในเส้นทางอรัญประเทศ - ชายแดนไทย/กัมพูชา (หนองเอี่ยน - สตึงบท) ทางหลวงหมายเลข 3 ตราด - หาดเล็ก ตอน 2 พิจารณาแนวเส้นทางใหม่ของ ทางหลวงหมายเลข 12 กาฬสินธุ์ - นาไคร้ - อ.คำชะอี ตอน 1 เร่งรัดการดำเนินงาน ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 และพิจารณาเส้นทางถนนและรถไฟจากปากบารา - ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 รวมทั้งมอบหมายให้กรมทางหลวงเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการมอเตอร์เวย์ สายสะเดา - หาดใหญ่
ภายหลังการประชุม พล.อ.อ.ประจิน เปิดเผยถึงการหารือ มีเกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟรางคู่ของไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เบื้องต้นรัฐบาลจีนยังคงมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวย้ำให้ไทยเร่งสร้างทางรถไฟรางคู่ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะเส้นทางที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ เส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพ
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางทางรัฐบาลมีการพิจารณาการลงนามความร่วมมือ (MOU) แล้ว และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันกับจีนว่าจะพัฒนาให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ การทำ MOU ดังกล่าวรัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนแล้วแต่เคยพิจารณาไว้ถึง 2 แนวทาง แต่ได้ยกเลิกไปด้วยสาเหตุหลายประการ คือ 1. การยกเลิก MOU ฉบับเดิม ที่กำหนดให้สินค้าเกษตรอย่าง ข้าว ยางพารา ไปแลก เป็นต้น และแนวทางที่ 2 รัฐบาลจะยังคงใช้ MOU เดิม แต่จะปรับปรุงเงื่อนไขให้เกิดประโยชน์แก่ไทยมากขึ้น
“ สำหรับการดำเนินงานจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ภายในสัปดาห์หน้า และจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไปหากผ่านมติ ครม.” รมว.คมนาคม กล่าว และว่า หาก ครม.และสนช.เห็นชอบจะมีการลงนามและเสนอต่อจีน คาดว่าจะลงนามภายในเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เส้นทางรถไฟจะมีการก่อสร้างเส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นแก่งคอย-กรุงเทพมหานคร โดยเป็นจุดเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจของจีนทางบก และภายในประเทศ อีกทั้งกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนจนสุดท้ายมาถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และหนองคาย ระยะทางประมาณ 867 กิโลเมตร เบื้องต้นใช้งบลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท
ส่วนการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางกรุงเทพมหานคร-เชียงใหม่ รัฐบาลมีแผนดำเนินงานในปี 2559 ทางรัฐบาลจีนจะเป็นผู้หาแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวด้วยว่า นอกจากมีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางแล้ว รัฐบาลไทยมีโครงการที่จะพัฒนาท่าอากาศยาน ท่าเรือ อีกทั้งรัฐบาลมีการดำเนินการหาแนวทางที่จะตกลงความร่วมมือในอีกหลายโครงการด้วยกัน ระหว่างญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป