กองทุนสื่อสร้างสรรค์ มองให้ไกล อีกความหวังพัฒนา "คนทำสื่อ"
หลังจากเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กเยาวชนได้เข้าหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือผลิตสื่อสร้างสรรค์ เด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ
ล่าสุด วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 สนช.ได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 176 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 5 พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อศึกษาร่างพระราชบัญญัติ 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน โดยให้เวลากรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษาให้แล้วเสร็จ 30 วัน
สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ผู้ที่ร่วมขับเคลื่อน และออกแรงผลักกันให้ประเทศไทยมีกองทุนสื่อสร้างสรรค์มาเป็นเวลาหลายปี
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กองทุนนี้ไม่ได้ใช้หลักการแค่เพียงจัดสรรเงินสนับสนุนเท่านั้น แต่ยังดูถึงกระบวนการ กลไกที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคม เช่น การจะมีสื่อที่ดีเหมาะกับคนทุกวัยต้องผ่านกระบวนการร่วมคิด ร่วมผลิต ศึกษาวิจัย การนำเสนอ การตรวจสอบ ซึ่งหวังว่า กองทุนนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการเรียนรู้ทางสังคม คุณค่าของพ.ร.บ.ฉบับนี้จึงมีคุณค่ามากกว่าการจัดสรรเรื่องงบประมาณเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องการทำให้เกิดสื่อที่สร้างสรรค์ขึ้น
รศ.ดร.วิลาสินี ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีกองทุนนี้ทำให้มีสื่อที่ดี และเป็นสื่อที่สร้างแรงบันดาลใจ เป็นเสมือนการเรียนรู้ที่ดีให้กับสังคม
"สื่อที่ดีจะมีกระบวนการผลิตที่ดีมีการค้นคว้าลงทุน ในบ้านเรายังให้ความสำคัญในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย" ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะ สสส. กล่าว และว่า บ้านเราให้ความสำคัญเรื่องกองทุนสื่อสร้างสรรค์น้อย เลยกลายเป็นภาระของคนทำสื่อ ที่ต้องไปหาวิธีเอาเอง ในขณะเดียวกันสังคมก็กดดันเรียกร้องว่า สื่อต้องทำให้ดี ดังนั้นวันนี้เราต้องหันมาพัฒนา "คนทำสื่อ" ให้มีศักยภาพ และมองกองทุนนี้ให้ไกลกว่าการจัดสรรงบประมาณ แต่มองไปว่า นี่คือการขับเคลื่อนสังคมครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้และการพัฒนา
เมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ที่ผ่านฉบับนี้เป็นของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ใช่ร่างของภาคประชาชนหลักการจะเป็นไปตามที่หวังไว้หรือไม่นั้น รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้เวลานานมาก 8-9 ปี ทราบมาว่า วิปของสนช.ได้มีการนำร่างที่ผ่านกรรมาธิการปีที่แล้วประกบเข้าไปด้วย ฉะนั้นคณะกรรมการวิสามัญที่จะพิจารณาร่างนี้ต้องพิจารณาประกอบกัน และคาดหวังว่าจะดูร่างที่ผ่านกรรมาธิการเป็นหลักด้วย เนื่องจากเป็นร่างที่ผ่านการทบทวนไตร่ตรองและเป็นร่างที่ดี
ส่วนกรณีคลิปเหนียวไก่ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในสังคมออนไลน์ขณะนี้ ดร.วิลาสินีมองว่า หากมองเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมทุกคนสามารถสร้างสื่อและเป็นนักสื่อสารและสร้างวาระข่าวให้กับสังคมเองได้ทั้งนั้น หากมองอย่างเข้าใจการทำสื่อให้ดีอาจไม่ได้จำกัดเฉพาะนักวิชาชีพเท่านั้น ยิ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องมาช่วยกันสร้างเสริมศักยภาพและปัญหาให้กับคนในสังคม สร้างสื่อที่มีคุณภาพอยู่บนความรับผิดชอบ ไม่ต้องสร้างความหวังกับนักวิชาชีพสื่ออีก แต่เราต้องสร้างความรับผิดชอบในโลกดิจิตอลด้วย
"กรณีคลิปเหนียวไก่หากมองก็น่าตกใจ ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามกับสื่อมวลชนด้วยว่า วิชาชีพสื่อมีอาวุธอยู่ในมือ แต่ทำไมวิ่งตามการสร้างกระแสของคนอื่นๆ แทนที่จะทำหน้าที่หาข่าวเอง สืบเสาะเอง"
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สื่อให้คุณค่ากับวาระที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียที่หาแหล่งอ้างอิงได้ยาก นี่คือเรื่องที่น่าตกใจ
“ยุคนี้เป็นยุคที่ประชาชนทำสื่อกันได้แล้ว สิ่งสำคัญมากคือเราต้องมาลงทุนกับความรับผิดชอบ กลุ่มนักวิชาชีพสื่อจะต้องมีกระบวนการเสริมศักยภาพการพัฒนาจริยธรรมและเรื่องอื่นๆให้เกิดขึ้น และกองทุนนี้จะช่วยสร้างกระบวนการเหล่านี้ได้ ดังนั้นเราต้องทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อได้รับการยอมรับจากสังคมอีกครั้ง”
ด้านนางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า อยากให้กองทุนเน้นไปที่เด็กเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากสื่อสำหรับเด็กมีน้อย และสื่อดีก็มีน้อย ทุกวันนี้เด็กเป็นผู้ผลิตสื่อเองใช้โซเชียลมีเดียสื่อจึงอยู่ในมือของเด็ก พ.ร.บ.ต้องเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสถานการณ์ในเชิงรุกไม่ใช่แค่มองการผลิต และมองเด็กเป็นผู้รับสื่อเท่านั้น
"พ.ร.บ.ต้องส่งเสริมให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นการดึงเด็กออกมาจากพื้นที่ให้เข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ ขณะเดียวกันเป็นกองทุนที่ไปสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อที่จะทำให้มีพื้นที่ดีๆของชุมชนมีการสร้างสรรค์สื่อ ไม่ต้องเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อส่วนกลางอย่างเดียว และสร้างให้เด็กเป็นพลเมืองมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้"
ส่วนการมีกองทุนนี้แล้วจะคืนพื้นที่สื่อดีได้มากน้อยเพียงใด นางเข็มพร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย เพราะทุกกฎหมายหากไม่บังคับใช้ก็จะนิ่งและไม่มีประโยชน์ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้ทุกคนเข้ามาพัฒนาและเผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของกองทุน"
ขอบคุณภาพจากwww.childmedia.net