‘วิทยากร เชียงกูล’ ชงโละระบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา เน้นแข่งขันตลาดเป็นธรรม
นักวิชาการนิด้า หวังอนาคตขยายหลักประกันเอื้อแรงงานนอกระบบ 30 ล้านคน บ่นอุบเสียดาย! รัฐดองกองทุนการออมฯ 'รศ.นวลน้อย' จี้ตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค หลังล่าช้า 17 ปี ใช้ถ่วงดุลกม.เเข่งขันทางการค้า 'วิทยากร เชียงกูล' เเนะเขียน รธน.เน้นตลาดเเข่งขันเป็นธรรม
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดสัมมนา ‘แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 16 อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค จ.นนทบุรี
ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหลายอย่างได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น นโยบายการศึกษาฟรี 12 ปี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป คือ การพัฒนาหลักประกันทางสังคม เพื่อความมั่นคงในชีวิต ด้วยการผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติ
ทั้งนี้ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะสถาบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง ลูกหลานไม่ได้อยู่ด้วยกัน ดังนั้นต้องหาวิธีขยายหลักประกันให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ 30 ล้านคน ที่ยังไม่เข้าถึงระบบ ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ดำเนินการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2554
ส่วนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นนั้น นักวิชาการ นิด้า ระบุว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญต้องขับเคลื่อน เพราะเรากระจายอำนาจมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ มิหนำซ้ำยังมีแนวคิดกลับมารวมศูนย์อำนาจอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี ฉะนั้นประชาชนต้องเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจต่อไป
ด้านรศ.ดร.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า การดำเนินแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้ผลต้องขับเคลื่อนควบคู่กับสิทธิเสรีภาพ เพราะปัญหาของการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มักเขียนสวย แต่บังคับใช้ไม่ได้ ฉะนั้นต้องมาคิดว่า ทำอย่างไรให้กฎหมายถูกบังคับได้ โดยกำหนดให้ชัดเจนต้องดำเนินนโยบายภายใน 1-2 ปี หากเขียนกว้าง ๆ จะไม่มีความหมาย เสมือนเป็นแผนนโยบายมากกว่า
“สิทธิประชาชนที่ควรจะได้รับ คือ สิทธิทางเศรษฐกิจ ต้องสร้างความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่เวลานี้ยังมีความเหลื่อมล้ำเรื่องดังกล่าวอยู่ ฉะนั้นต้องกระจายทรัพย์สินที่สร้างโอกาสงานอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่แจกรายได้เพิ่ม” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่านโยบายการตลาดแบบเสรีก็ไม่ใช่ระบบเสรีแท้จริง ทว่า มือใครยาว สาวได้สาวเอา ถือเป็นคำหลอกลวง จึงเสนอให้เขียนในรัฐธรรมนูญเน้นการตลาดอย่างเป็นธรรม เพื่อพ่อค้ารายย่อยจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้
ขณะที่นายศรีสุวรรณ ควรขจร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า รัฐสร้างระบบคมนาคมเป็นใยแมงมุม จึงต้องเพิ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีคนไม่กี่คนที่จะเขียนขึ้นมา หากอำนาจรัฐถูกใช้ไม่ดีจะกดดันให้เกิดการต่อต้านในระดับท้องถิ่น ฉะนั้นต้องกระจายอำนาจ โดยเฉพาะกรณีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก็ไม่อาจหวังหน่วยงานภาครัฐเป็นองค์กรนำหันเหทิศทางการพัฒนาสู่โหมดความยั่งยืนได้
แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่เห็นว่าจะหันเหไปสู่ทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้ ฉะนั้นความหวังจึงอยู่ที่ท้องถิ่นที่มีสิ่งประจักษ์ว่าองค์กรเหล่านั้นมีขีดความสามารถจะดูแล และไม่ถูกบั่นทอนกำลังจากวิธีการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงต้องทำให้อำนาจส่วนกลางถูกจำกัดลง และเพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่น
“สิทธิชุมชนต้องเขียนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และไม่อยู่ในสถานะระดับล่าง เมื่อปรากฏชัดเจนแล้ว เชื่อว่าความตื่นตัวทางการเมืองของท้องถิ่นจะสำแดงฤทธิ์ และจะจัดสมดุลใหม่ให้มีอำนาจตัดสินใจ” ผู้แทน กป.อพช. กล่าว
ด้านรศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจต้องเสรีและเป็นธรรม เพื่อถ่วงดุลในระบบ แต่รัฐไทยกลับปล่อยให้มีการแข่งขันแบบเสรีไม่จริง ซึ่งที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นระบุระบบเศรษฐกิจไทยเป็นแบบผูกขาด โดยมีสาเหตุการออกกฎกติกาของรัฐเอื้อให้มีการแข่งขันน้อยลง ถึงแม้จะมีกฎหมายส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าก็ตาม ทว่ากลับไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นอิสระจากระบบราชการ เพื่อการลงโทษกลุ่มธุรกิจที่กระทำผิด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยพบบริษัทใดถูกลงโทษเลย
ทั้งนี้ ในต่างประเทศจะมีการถ่วงดุลกันระหว่างกฎหมายส่งเสริมการแข่งขันทางการค้ากับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันการกีดกันกลุ่มธุรกิจรายเล็กแข่งขันในตลาด เเต่ไทยละเลยการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนานถึง 17 ปี เพราะรัฐไม่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยอ้างว่ามีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการ ฉะนั้นหากไทยยังไม่มีกลไกในการถ่วงดุล การพัฒนาเศรษฐกิจภาคประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ .
ภาพประกอบ:phd777.blogspot.com