ยุคสังคมตื่นตัว ส่องโอกาส เมื่อไหร่ก้าวพ้นกับดัก 'คอร์รัปชัน'
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2558 เรื่อง ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย โดยหนึ่งในนั้นมีหัวข้อน่าสนใจ 'กับดัก:ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชัน'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมทัศนะจาก 3 กูรูเศรษฐกิจมานำเสนอ เพื่อตอบโจทย์การข้ามพ้นกับดักการคอร์รัปชันในอนาคต
(ขอขอบคุณ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)
‘บรรยง พงษ์พานิช’
ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
“...สังคมไทยกำลังตื่นตัวจากความสำเร็จของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทว่า รูปแบบที่เกิดขึ้นกลับเป็นการตื่นตัวลักษณะเฮยกทัพออกจากกำแพงเมือง แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการต่อสู้ต่อไปอย่างไร ก่อนจะลงไปถึงจุดที่สังคมร่วมกันได้...”
หากจะกล่าวถึงการออกแบบ ‘ทฤษฎีคอร์รัปชัน’ เพื่อวางรากฐานให้สังคมเกิดการยอมรับและคงอยู่ต่อไปอย่างถาวร แบ่งเป็นดังนี้
1.ทฤษฎีการปราบปราม ตราบใดที่ผลประโยชน์ได้จากการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่าโทษที่ได้รับ คูณด้วยโอกาสจะถูกจับกุมได้ เมื่อนั้นคนก็ยังโกงอยู่ ดังนั้น จำเป็นต้องเพิ่มบทลงโทษและโอกาสการจับกุมผู้กระทำความผิด
2.ทฤษฎีป้องกัน เมื่อประชาชนประสบปัญหามักนึกถึงความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ฉะนั้นต้องเร่งเปลี่ยนค่านิยมส่วนนี้ โดยลดขนาดอำนาจรัฐให้เล็กลงมากที่สุด ไม่ใช่เพิ่มอำนาจ
“...ผู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน คือ ประชาชน จึงต้องหาเครื่องมือทำให้พวกเขาเข้าถึงการดูแลเรื่องดังกล่าวได้ ด้วยการเรียกร้อง ‘เปิดเผยข้อมูลอย่างไร้เงื่อนไข’ ในลักษณะเข้าใจง่าย ไม่ใช่นำเอกสารมากองให้ค้นหาเอง
เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลแล้ว จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบช่วยเหลือด้วย เพราะลำพังประชาชนกับสื่อมวลชนคงไม่มีความสามารถเข้าถึงข้อมูลมากนัก ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเอ็นจีโอที่มีคุณภาพและทรัพยากรเพียงพอ...”
สุดท้าย พัฒนาสื่อมวลชนให้มีคุณภาพ เพราะประชาชนจะเรียนรู้จากสื่อเหล่านี้ พร้อมกันนั้น หากผลักดันกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐสำเร็จ อนาคตเราจะไม่เห็นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีภาพนักการเมืองอีกแล้ว ซึ่งจะช่วยกดดันให้สื่อต้องปรับการทำหน้าที่ให้เหมาะสมต่อไป
(ขอขอบคุณ เว็บไซต์ยูทูป)
‘วิชัย อัศรัสกร’
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
“...เรามองภาพกับดักความผิดพลาดไม่เห็น สุดท้ายจะสะท้อนกลับมา เหมือนครั้งที่ผู้นำคนหนึ่งยืนยันว่า เขาไม่ได้ทำความผิดอะไร เหตุใดต้องรับผิดชอบทางคดีกรณีรัฐเกิดความเสียหายหลายแสนล้านบาทด้วย...”
เราได้พูดคุยกับหอการค้าไทยและผู้ประกอบการ ต่างยอมรับว่ายังมีความพยายามทุจริตคอร์รัปชันอยู่ แต่อาจจะระมัดระวังมากขึ้น เพราะทำอะไรตอนนี้ต้องดูทิศทางลม ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนยังตื่นตัวอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ออกมาแสดงเท่านั้น
ทั้งนี้ กุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหา คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน
หากฝ่ายบริหารเห็นว่าคนที่แล้วทำไม่ดี ไม่เอาประชาชน จึงรับจะเข้ามาจัดการเองให้ดีกว่าคนก่อน ส่วนประชาชนให้อยู่เฉย ๆ สิ่งนี้ คือ ‘กับดัก’ อันนำมาสู่ความผิดพลาด
การจัดระบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องสร้างความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ดึงความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็น
...องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยได้เสนอไปบางส่วนแล้ว ซึ่งเรามีเจตนาที่ดีอยากให้บ้านเมืองเดินไปสู่ทางออกที่ไม่ใช่เฉพาะทฤษฎี หากได้ปฏิบัติแล้ว .
(ขอขอบคุณ เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)
ดร.วิรไท สันติประภพ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
“...ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชัน มีส่วนในการกำหนดรูปแบบของสังคมไทย เพื่อก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำไปได้...”
โดยหลักคิดที่สำคัญ คือ 1.กรอบความคิดสังคม ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘ธรรมะนิยม’ หมายถึง การพัฒนาที่ตรงธรรมที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าถึงเฉพาะกลุ่มพุทธธรรม หากแต่เข้าถึงกลุ่มอิสลามมิกธรรมหรือคริสต์ธรรมก็ได้
ทั้งนี้ หลักการสำคัญ คือ สังคมต้องอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากการเบียดเบียนมากเกินไป
ทีนี้วิธีการให้คนตระหนักความเกี่ยวเนื่องของคนในสังคม ด้วยการเชื่อมโยงคนให้ลดความเป็นปัจเจกและคำนึงถึงประโยชน์รอบข้างมากขึ้น และต้องจัดสรรทรัพยากรให้ทุกคนก้าวไปพร้อมกันได้
“องค์ดาไลลามะ ประมุขแห่งประชาชนและคณะสงฆ์ทิเบต เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่เราต้องการเป็น ‘ความจำเป็น’ หรือ ‘ความโลภ’ หากเราตั้งคำถามนี้ได้ย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและนำพาไปสู่สังคมสันติประชาธรรม”
2.การทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ โดยการทำให้กฎเกณฑ์กติกาของสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังเช่นการผลักดันกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อให้เกิดกลไกการตรวจสอบ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถยุติได้ด้วยธรรม
ต้องหยุดประชานิยม!!! พร้อมให้ประชาชนกลับมาพึ่งพาตัวเองมากกว่าพึ่งพารัฐ
3.การทำให้เกิดผลในภาพใหญ่ ภาคธุรกิจของไทยมักมองการใช้อำนาจเหนือตลาดไม่ใช่ความผิด แต่เป็นการปฏิบัติตามการแข่งขันเชิงธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ธุรกิจหลายอย่างประสบความสำเร็จจากการนำโจทย์ของสังคมเป็นตัวตั้ง ซึ่งการทำซีเอสอาร์ตกขบวนรถไฟไปแล้ว
ท้ายที่สุด จะก้าวข้ามกับดักการทุจริตคอร์รัปชันได้ต้องเริ่ม ‘ปฏิรูปใจ’ โดยการเสียสละผลประโยชน์สั้น ๆ และตระหนักรู้ถึงผลกระทบ ซึ่งประเทศจะพิการต่อเนื่อง หากยังนิ่งเฉยต่อไป
อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวไว้ว่า “เราท่านมักได้ยินเสมอว่า อุดมคติกินไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็มีผู้กล่าวว่า ไอ้ที่คุณคิดจะทำนั้นเป็นอุดมคติ ปฏิบัติไม่ได้ ต้องตอบว่าสิ่งที่ดีนั้นปฏิบัติได้ยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ สิ่งที่เลวนั้นจะปฏิบัติให้ง่ายสักปานใด ก็ดีขึ้นมาไม่ได้”
เพราะฉะนั้นจะก้าวข้ามกับดักได้ ‘ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชัน’ เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ต่อไป
ภาพประกอบ:เครือข่ายการเมืองไทย-เว็บไซต์ไทยพับลิก้า