สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจริง ต้องอธิบาย- สร้างความมั่นใจให้ประชาชน
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นิด้า ห่วงมาตรการการสร้างโรงไฟฟ้าของไทย แนะรัฐฯ สร้างบนเกาะไร้คนอาศัย พร้อมกำหนดทิศทางกำหนดทิศทางอนาคตด้านพลังงาน ชี้หากทำจริงควรสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนก่อน
จากการที่รัฐบาลเตรียมผลักดันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อรองรองรับกระแสไฟฟ้าในอนาคตของไทย แต่ในทางกลับกันเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติหรือ UN ได้ออกมาเผยรายงานชิ้นใหญ่ ที่เนื้อหาระบุถึงภาวะโลกร้อนที่กำลังจะทวีความรุนแรงขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ พร้อมกันนี้ยังเผยถึงวิธีการการยุติผลกระทบดังกล่าวเพื่อไม่ให้เลวร้ายมากกว่าเดิม คือลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ให้น้อยลง จนกระทั่งยุติไปภายในปี 2100 โดยเสนอให้แต่ละประเทศลงนาม MOU ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ถึงกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของไทยว่าเป็นการเดินสวนทางกับสถานการณ์ของโลกที่พยายามลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสหรือไม่
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่าเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินฯ ที่เตรียมสร้างมีสาเหตุมาจาก รัฐฯ เห็นว่า ในอนาคตภาคใต้ของไทยจะขาดแคลนไฟฟ้าที่ความต้องการพุ่งสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาคใต้ยังคงใช้ไฟฟ้าที่ต่อสายมาจากราชบุรีอยู่
"จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เห็นว่าปัญหาถ่านหินที่กำลังถกเถียงกันอยู่นั้นเป็นปัญหาเรื่องมลภาวะ ที่หลายฝ่ายทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ หรือ NGO กังวลว่าจะเกิดผลกระทบระยะยาว แต่ทางฝ่าย กฟผ. ยังคงยืนยันว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงและไม่กระทบชาวบ้านอย่างแน่นอน"
ในทางกลับกันผลงานที่ผ่านมาผลงานของ กฟฝ.ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนต่อในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดนั้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวว่า ดังนั้นหากจะสร้างโรงไฟฟ้าจริงตามที่รัฐฯ ได้กำหนดไว้ อย่างไรเสียถ่านหินไม่พออยู่ดี ซึ่งคาดว่าในอีก 100 ปีข้างหน้าถ่านหินของไทยจะหมดไป และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นประเทศไทยต้องกำหนดนโยบายด้านพลังงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าว่า หากถ่านหินหมดไปจะหาแนวทางมาแก้ไขวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ซึ่งที่ใช้กันในตอนนี้ก็มีโซล่าเซลล์ และน้ำมันที่สามารถทำได้ แต่ต้นทุนค่อนข้างสูง
“ภาครัฐต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไร ถ้าเอาถ่านหินก็ต้องทำให้สะอาด ต้องทำให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วนให้ได้ว่า ปลอดภัยจริงๆ หากไม่ปลอดภัยภาครัฐต้องรับผิดชอบ” รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าว
เมื่อถามว่า ถ่านหินที่บริสุทธิ์สะอาดมีจริงหรือไม่ รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวว่า ทุกสิ่งที่จะนำมาทำนั้นไม่มีสิ่งไหนสะอาด 100% ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรืออื่นๆ เพียงแต่ว่าการสร้างมลพิษที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดมากน้อยเพียงใด
"ถ่านหินที่จะสร้างอย่างไรก็ตามก็ทำให้เกิดมลภาวะอยู่ดี ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาจัดการเกี่ยวกับกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน และจำกัดขอบเขตของผลกระทบให้อยู่ในวงแคบ ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความจริงใจที่จะสร้างด้วย ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่าจะสร้างให้สะอาดแค่เพียงคำพูด"
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวอีกว่า เรื่องความมั่นใจของมาตรฐาน ตอบไม่ได้เลย เพราะที่ผ่านมาอยู่ที่การจัดการ ส่วน กฟฝ. พูดมาตลอดว่า มีมาตรฐานๆ แต่จริงๆก็เกิดผลกระทบ ถามว่าชาวบ้านมั่นใจไหม ตอบว่าไม่ ชาวบ้านไม่มั่นใจ ส่วนนักวิชาการก็ไม่มั่นใจว่า จะจัดการได้จริงหรือไม่ ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือหามาตรฐานในการจัดการ หามาตรการในการเยียวยา มีคณะกรรมการในการตรวจสอบชัดเจนว่าจะต้องเป็นอย่างไร
รวมไปถึงการหาแนวทางชดเชยหรือให้ผลประโยชน์ต่อคนที่จะได้รับผลกระทบนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อาทิ การจัดตั้งกองทุนการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต เพื่อให้เป็นกรณีชดเชย เนื่องจากประชาชนบางส่วนมีฐานะยากจนหากเกิดอาการเจ็บป่วยจากผลกระทบโรงฟ้าจริงจะได้มีแนวทางไปเสริมตรงนั้น
พร้อมกันนี้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นิด้า ยังเสนอแนวทางเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินฯว่า หากจะสร้างจริงเสนอให้ไปสร้างในเกาะแห่งหนึ่งแล้วลากสายเข้ามา ทำในเกาะนั้นจนประชาชนเกิดความมั่นใจว่า ไม่เกิดผลกระทบกับคนที่อยู่บนฝั่งแน่นอน
สุดท้ายกรณีของการลงนาม MOU ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น รศ.ดร.ธวัชชัยเห็นว่า ประเทศไทยควรจะกำหนดทิศทางและอนาคตของตัวเอง ไม่ใช่ให้ใครมากำหนดให้ การไปลงนามที่เป็นข้อผูกมัดว่าจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งตามความเป็นจริงควรหันมาดูบริบทของไทยเอง อย่างเช่น ในกรณีของประเทศลาวก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำ ลาวก็พยายามหาแนวทางในการกำหนดมาตรฐานต่างๆโดยวิธีของประเทศเอง หรือในฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังหาข้อสรุปได้
“หากมีความจำเป็นสร้างโรงไฟฟ้าจริงๆรัฐก็ควรจะอธิบายถึงเหตุและผลให้กับประชาชนเข้าใจ พร้อมกันนั้นก็ต้องหาความมั่นใจ มาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นว่าผลกระทบที่จะเกิดนั้นมีไม่มากหรือมีมาตรการเยียวยาอย่างไร”รศ.ดร.ธวัชชัยกล่าวทิ้ง้ทาย