มูลนิธิผู้บริโภค เตือน รบ.บัตรเครดิตเกษตรกร-พลังงาน ยิ่งสร้างทุกข์
มูลนิธิผู้บริโภค-ชมรมหนี้บัตร เปิดคลีนิค-เว็บไซต์ให้คำปรึกษา เตือนรัฐบาลออกบัตรเครดิตเกษตรกร-พลังงาน ไม่มีมาตรการรัดกุม จะสร้างทุกข์มากกว่าปลดหนี้ประชาชน เร่งรัฐออก กม.ทวงหนี้ที่เป็นธรรม
วันที่ 4 ก.ย.54 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แถลงข่าวห่วงใยในการใช้มาตรการออกบัตรเครดิตพลังงาน บัตรเครดิตเกษตรกร ให้กับผู้ประกอบอาชีพรถโดยสารรับจ้างและเกษตรกรตามนโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชนของรัฐบาล ว่าอาจทำให้ประชาชนมีความทุกข์เพิ่มขึ้น โดย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าหากรัฐบาลจะใช้มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเข้าถึงการใช้บัตรเครดิต จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอและชัดเจน
เช่น กำหนดฐานรายได้และยอดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำหนี้ได้อย่างเหมาะสม แก้ไขอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต้องไม่เกินร้อยละ 15 จึงจะถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม มอบหมายให้มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจนในการรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตอย่างฉลาดปลอดภัย ที่สำคัญที่สุดต้องมีหน่วยงานชัดเจนทำหน้าที่ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่องในวิธีบริหารการเงินครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องเร่งออกกฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆเลย ความเสี่ยงต่างๆจะตกอยู่กับผู้ถือบัตรเครดิตทั้งหมด และจะเป็นอันตรายต่อฐานะทางการเงิน ฐานะครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่แน่นอน
“ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค.54 ที่มีการร้องเรียนขอคำปรึกษาเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอันดับหนึ่งเป็นปัญหาหนี้สินผู้บริโภคถึงร้อยละ 50 และอันดับหนึ่งในปัญหากลุ่มนี้คือหนี้บัตรเครดิตถึงร้อยละ 50 ยอดร้องเรียนในลักษณะนี้เป็นมาตั้งแต่ปี 2547-2548 ที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบัตรเครดิตโดยไม่ได้กำหนดฐานรายได้และอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน ไม่มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอในการเลือกใช้บัตรเครดิตอย่างเหมาะสม จึงอยากให้รัฐบาลระมัดระวังและมีมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเพียงพอ” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ชมรมฯปิดพื้นที่ให้คำปรึกษาผู้มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบนเว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเท่าที่ตรวจสอบได้ 10,023 ราย มีกระทู้และแสดงความเห็น 94,179 กระทู้ ส่วนใหญ่พบว่าลูกหนี้บัตรเครดิตจำนวนมากถูกบีบคั้นกดดันจากกลุ่มรับจ้างทวงหนี้ จนทำให้รู้สึกตกอยู่ในสภาวะทางตันไม่มีทางออก และใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม เช่น ยอมปรับโครงสร้างหนี้โดยที่มีหนี้รอคิวอยู่อีกหลายบัตร และตนเองมีรายได้ไม่มากขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่รัดตัว บางคนเลือกลาออกจากงานเพราะอับอายที่ถูกทวงหนี้ แต่ที่หนักที่สุดคือพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือครอบครัว
“จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับเร่งด่วน โดยต้องปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 20 สินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 28 ซึ่งยังไม่รวมค่ารรมเนียมต่างๆอีก ให้ลดลงมาอย่างน้อยไม่เกินร้อยละ 15 โดยให้รวมค่าธรรมเนียมต่างๆในอัตรานี้ด้วย นอกจากนี้ควรเร่งออกกฎหมายการติดตามทวงถามหนี้โดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดการข่มขู่กดดันดูหมิ่นเหยียดหยามลูกหนี้อย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากแนวทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่างๆนั้น ไม่มีผลในปฏิบัติ” นายชูชาติกล่าว
ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ร่วมกันเปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาแบบตัวต่อตัวที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซ.ราชวิถี 7 ในวันทำการ จ.-ศ. 09.00–18.00 น. และสามารถขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในส่วนชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่www .consumerthai.org/debt/ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลและจองคิวขอคำปรึกษาได้ โทร.02-2483734-37 .
ที่มาภาพ : http://www.talkystory.com/?p=12658