นักเศรษฐศาสตร์ มก.ตอกฝาโลง จำนำข้าว ไม่คุ้มทุ่มงบไปมหาศาล
ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ประเมินผลกระทบโครงการจำนำข้าวที่มีต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ 5 ฤดูกาล ระบุแม้จำนำจะเพิ่มรายได้ได้จริง แต่ไม่คุ้มกับงบฯ มหาศาลที่ทุ่มไป แถมไม่ได้ทำให้ชาวนานำเงินไปลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
|
วันที่ 12 พฤศจิกายน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 “นโยบายรัฐและความยั่งยืน (Public Policy and Sustanability)” ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ มก. โดยภายในงานมีการนำเสนองานวิจัยหลายชิ้น ทั้งการประเมินผลกระทบโครงการจำนำข้าวที่มีต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของการทำนาข้าวในประเทศไทย, การวิเคราะห์ผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำ,การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
สำหรับการประเมินผลกระทบโครงการจำนำข้าวที่มีต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของการทำนาข้าวในประเทศไทย นำเสนอโดยผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากภาควิชาคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มก. ได้ศึกษาความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ ผ่านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 เพื่อหาคำตอบ โครงการจำนำข้าวสามารถช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้สุทธิต่อไร่เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ และคุ้มค่าเพียงใด อีกทั้งโครงการจำนำข้าว สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการทำนาได้หรือไม่
ผศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า จากกงานวิจัยของดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ ที่ศึกษาพบว่า โครงการจำนำข้าวใช้เงินซื้อข้าวไปแล้วกว่า 9.85 แสนล้านบาท และคาดว่าจะขาดทุน 5.4-7.5 แสนล้านบาทนั้น ซึ่งการประเมินผลกระทบจากโครงการจำนำข้าว 5 ฤดูกาลผลิตครั้งนี้ ก็พบแม้โครงการนี้จะทำให้รายได้สุทธิต่อฟาร์มเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนล้านบาท แต่หักลบแล้วกับงบประมาณที่รัฐจ่ายไปมหาศาล ก็อาจไม่คุ้มค่า เพราะเกิดผลเพียงระยะสั้น
“นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญ เรื่องการมองไปในอนาคต โดยเฉพาะขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการคิดแค่ผลระยะสั้น เพื่อให้ได้คะแนนเสียง อาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ดังนั้น จำเป็นต้องมองระยะยาว ทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต”
ผศ.ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า โครงการจำนำข้าวไม่ได้มีส่วนส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำนาในระยะยาวเลย ขณะที่ฟาร์มขนาดใหญ่ (มากกว่า 25 ไร่ขึ้นไป) กลับได้ประโยชน์มากที่สุด เมื่อเทียบกับฟาร์มขนาดกลาง และขนาดเล็ก (น้อยกว่า 10 ไร่)
“การใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมหาศาลไปกับโครงการจำนำข้าว จึงนับว่าไม่คุ้มค่า ทั้งๆ ที่เราสามารถใช้งบฯ ก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ ส่วนการอ้างว่า ใช้งบฯ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำได้แต่ท้ายสุดได้อะไร หากชาวนาไม่ได้ประโยชน์ และไม่ได้ทำให้ชาวนาปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถเลย” นักเศรษฐศาสตร์ มก. กล่าว และว่า การอุดหนุนเกษตรกรสามารถทำได้ แต่การอุดหนุนแบบสอนให้ชาวนาได้เรียนรู้ไปด้วยก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการมีนโยบายคู่ขนานส่งเสริมสร้างประสิทธิภาพการแข่งขัน ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต หรือควรมีกฎเกณฑ์ให้เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว นำเงินไปใช้จ่ายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ใช่การบริโภคอย่างเดียว
ผศ.ดร.วิษณุ กล่าวสรุปตอนท้ายของการนำเสนองานวิจัย โดยสรุปได้ว่า เกษตรกรไม่ได้นำเงินไปลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการทำนาแน่นอน ยิ่งหากเกษตรกรไม่ได้นำเงินไปชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้ด้วยแล้ว โครงการนี้จึงไม่น่ามีผลดีในระยะยาว