กลุ่มชาวเล จี้รัฐเร่งประกาศพื้นที่พิธีกรรม/สุสาน 15 แห่ง 'เขตวัฒนธรรมพิเศษ'
กลุ่มเครือข่ายชาวเลอันดามัน ยื่นหนังสือต่อทวงถามและยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมต่อ “หม่อมหลวงปนัดดา” ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินฯ หลังออกมติ ครม. แต่ไม่ปฏิบัติตาม ถูกละเลยกว่า 4ปี
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการและแนวนโยบายในการฟื้นฟูชีวิตชาวเล ใน 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา สตูล ระนอง และกระบี่ เพื่อให้กลุ่มชาวเลมีที่ดินที่มั่นคงอยู่อาศัย มีพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล แต่ผ่านมากว่า 4 ปี พบว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติ ครม.แต่อย่างใด
ล่าสุด วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 กลุ่มเครือข่ายชาวเลอันดามัน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทวงถามและติดตามความคืบหน้าในการฟื้นฟูตาม มติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 พร้อมกันนี้ยังยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลบาลพิจารณา โดยมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีรับหนังสือแทน ณ สำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพฯ
นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษา กลุ่มเครือข่ายชาวเลอันดามัน กล่าวถึงการมายื่นหนังสือต่อรัฐบาลในครั้งนี้ว่า เพื่อถวงถามและให้แก้ปัญหาความไม่มั่นคงที่ดินในพื้นที่ โดยหม่อมหลวงปนัดดา ได้รับหนังสือและรับพิจารณาหมดทุกข้อ โดยเฉพาะข้อข้อหนึ่งที่ระบุว่า ต้องประกาศพื้นที่รัฐ 31 แห่งเป็นพื้นที่ “สิทธิร่วมของชาวเล” และข้อ 2.ประกาศพื้นที่พิธีกรรม/สุสาน 15 แห่ง เป็น เขตวัฒนธรรมพิเศษของชาวเล และจัดทำแผนที่ขอบเขตและรั้วป้องกันการบุกรุก
นายจำนงค์ กล่าวด้วยว่า พี่น้องชาวเลจะมาติดตามความคืบหน้าในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า
สำหรับเนื้อหาข้อเสนอมีจำนวนทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่
1.ประกาศพื้นที่รัฐ 31 แห่งเป็น “สิทธิร่วมของชาวเล”
2.ประกาศพื้นที่พิธีกรรม/สุสาน 15 แห่ง เป็น เขตวัฒนธรรมพิเศษของชาวเล และจัดทำแผนที่ขอบเขตและรั้วป้องกันการบุกรุก
3.เร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน 4 ฉบับ คือ กฎหมายสิทธิชุมชน กฎหมายธนาคารที่ดิน กฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้า กฎหมายกองทุนยุติธรรม
4.ให้มีนโยบายชะลอการบังคับคดีชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพราะอยู่ระหว่างการตรวสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์
5.กรณีกองทุนยุติธรรมที่สนับสนุนชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ขอให้การเบิกจ่ายงวดเร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและเปลี่ยนการสนับสนุนเป็นรายชุมชนแทนการเบิกจ่ายรายคน เพราะถูกฟ้องคดีแล้วถึง 101 ราย
6.ให้มีคำสั่งคุ้มครองวิถีชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
-จะต้องไม่ให้มีการตัดโค่นต้นไม้ซุงเป็นหลักฐานการพิสูจน์สิทธิของชาวเล
-คุ้มครองพื้นที่ชายหาดซึ่งชาวเลใช้เป็นพื้นที่จอดเรือ และคานซ่อมเรือมาเป็นเวลานานตั้งแต่เดิม
-สั่งการให้ตำรวจส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะ รับแจ้งความ และดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง/ปกป้องคุ้มครองชาวเลทุกกรณี รวมทั้งยุติการข่มขู่คุกคามชาวเล
7.ให้มีคำสั่งคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลทับตะวัน จังหวัดพังงา
-กรณีขุมน้ำเขียว ที่จอดเรือ/หาปลาหน้ามรสุมของชาวเลมายาวนาน แต่มีเอกชนอ้างสิทธิ์ เสนอให้คุ้มครองชาวเลไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคาม และเร่งตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์
8.ให้คุ้มครองพื้นที่ร่อนแร่ อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเล ซึ่งเป็นรายได้เสริมในช่วงหน้ามรสุมที่ออกทะเลไม่ได้