กลุ่มชาวเลสะท้อนรัฐขาดความจริงใจแก้ปัญหา ออกมติครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิต 4 ปี ยังเพิกเฉย
งาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” บูรณาการสู่การปฏิรูปประเทศ ชาวบ้านสะท้อนภาพรัฐไม่จริงใจแก้ปัญหา หลังรับปากออกมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 ผ่านมา 4 ปี ยังเพิกเฉย ทั้งเรื่องให้สัญชาติ สิทธิขั้นพื้นที่ฐาน ที่ดินทำกิน
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมบรรยายและสัมนาเชิงปฏิบัติการ "วันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 5" และการแสดงรองเง็ง ณ หอประชุม ชั้น 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ โดยภายในงานมีการประชุมภาคีเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เพื่อติดตามและสรุปสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ทั้งปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย หลายชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ปัญหาสุสานและพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเล ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสการท่องเที่ยว มีการรุกที่ดินสุสานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายหาด ปัญหาที่ทำกินทางทะเล ที่เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และนโยบายการท่องเที่ยว ทำให้ชาวเลที่ทำการประมงแบบพื้นบ้านไม่มีสิทธิ์เข้าไปหากินในพื้นที่ดั้งเดิม เป็นต้น
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาที่ดิน กล่าวถึงปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยเฉพาะปัญหาที่ดินของชาวเลนั้น เป็นปัญหาที่แก้ง่าย หากรัฐบาลนำมาปฏิบัติและเอาจริงก็สามารถทำได้ แต่ไม่มีรัฐบาลไหนใส่ใจ หรือเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว
"ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยเละเทะอยู่ทุกวันนี้คือ นักการเมือง และข้าราชการไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจัง และไม่มีคุณธรรม เพราะฉะนั้นทางที่แก้ไขปัญหาให้ดีที่สุดคือ “นำความจริง” มาคุยกัน"
พล.อ.สุรินทร์ กล่าวถึงการปฏิรูปวันนี้ กลัวจะเป็นการถางหญ้าให้เนียน แต่ไม่เอาราก กลัวว่าไม่เอาเหตุแห่งปัญหาออก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยเห็นเหตุของปัญหาที่แท้จริงหรือไม่ว่า เกิดจากอะไร ไม่มีใครพูดสักคำ ดังนั้นท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องลงมาดูพื้นที่มากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว พร้อมกันนี้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2559 จะทำให้ปัญหาที่ดินของชาวเลหมด โดยชาวเลจะมีที่ดินทำกินแน่นอน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการด้านมานุษวิทยา กล่าวถึงปัญหาที่ดินในไทยว่า ประเทศไทยไปยึดติดกับวัฒนธรรมชาวต่างชาติที่ถือเอกสารทางราชเป็นที่ตั้ง แต่ไม่มองดูว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือหลักฐานทางมานุษวิทยา หรือหลักฐานทางวัฒนธรรมที่เหลืออยู่ในพื้นที่ก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นปัญหาที่ดินของกลุ่มชาวเลที่เกิดขึ้น จึงเป็นปัญหาความยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้คาดหวังในอนาคตหากได้รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งในสมัยหน้าจะเปลี่ยนระบบหน่วยงานราชการใหม่ มองปัญหาของชาวบ้านทั่วไปมากขึ้น
ขณะที่นายนิรันดร์ หยังปาน ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวถึงปัญหาที่พูดกันในสังคมว่าจะรีบแก้ไขโดยเร็วของรัฐบาลที่ผ่านมา อาทิเรื่อง การให้สัญชาติไทยกับชาวเล การสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านไม่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่มอุปโภคบริโภค ไฟฟ้า ฯลฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการและแนวนโยบายในการฟื้นฟูชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดการพื้นที่ชาวเลถึงวันนี้ผ่านมากว่า 4 ปี การใช้ชีวิตยังคงเหมือนเดิมไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แม้จะมีมติ ครม. ออกมาแล้วก็ตาม ดังนั้นในยุครัฐบาลพิเศษชุดนี้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลคาดหวังว่า รัฐบาลจะเห็นความสำคัญนำปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเร็ว
สุดท้ายนางสาวแสงโสม หาญทะเล ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กล่าวว่า ชาวเลได้รับผลกระทบทางด้านนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องนโยบายท่องเที่ยวที่คืบคลานเข้ามาทำลายทั้งชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติของคนในพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อปี 2553 ได้มีมติ ครม.ให้ฟื้นฟูพื้นที่แล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ ซึ่งในส่วนนี้อยากให้รัฐบาลและราชการในพื้นที่ลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ได้เกิดผลจริง