นักเศรษฐศาสตร์หนุนคลอดภาษีที่ดิน-ตั้งกองทุนเสริมช่วยชาวบ้านที่ดินหลุดมือ
‘ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน’ ชี้รัฐจัดการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้มเหลว แนะตั้งร.ร.สาธิตอิสลาม หวังสร้างระบบการเรียนสายสามัญคุณภาพและการเป็นมุสลิมที่ดี นักวิชาการ มธ. ชงดันกองทุนที่ดินคู่ภาษีสิ่งปลูกสร้าง ช่วยเหลือชาวบ้านที่ดินหลุดมือ เเก้ปัญหาครบวงจร
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2558 ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ
โดยในเวทีเสวนา ‘ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ:ทุน คน ที่ดิน’ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในคนว่า มีสาเหตุมาจากการระบบการศึกษาไทย โดยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-NET) ใน 8 กลุ่มสาระวิชา มีคะแนนเฉลี่ยสอบตกทั้งประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนชั้น ป. 6 มีคะแนนสูงกว่า ม.3 และนักเรียนชั้น ม.3 มีคะแนนสูงกว่า ม.6 นั่นหมายถึงเด็กไทยยิ่งเรียนยิ่งย่ำแย่ โดยมีนักเรียนเพียงร้อยละ 10 ที่ได้คะแนนสูงสุด ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว คนเรียนเก่งมักเห็นแก่ตัว สุดท้ายนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน เพราะคนกลุ่มนี้มักมองความสำเร็จของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าส่วนรวม จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางสติปัญญา และจะรุนแรงมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า
“ไทยมีการจัดสรรงบประมาณให้กับระบบการศึกษามากถึงร้อยละ 25 ของงบประมาณทั้งหมด แต่คุณภาพกลับอยู่ในระดับต่ำสุดของโลก สาเหตุเกิดจากกระบวนการผลิตของไทยล้มเหลว” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว และว่า เนื่องจากมีการนำงบประมาณพัฒนาเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาน้อยมาก ส่วนใหญ่จะจัดอยู่กับการอบรมครู แต่ก็ไม่สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง
ศ.ดร.กนก ยังกล่าวถึงกรณีระบบการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกหนึ่งความล้มเหลว เกิดความแตกแยกในพื้นที่ คุณภาพการศึกษาต่ำ ผู้เรียนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะเราไม่เข้าใจความแตกต่างทางอัตลักษณ์ที่แท้จริง พยายามให้มุสลิมมาเรียนโรงเรียนสายสามัญ ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องเร่งทบทวนนโยบาย ทำอย่างไรให้มีการก่อตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลาม เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาสายสามัญอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการเป็นมุสลิมที่ดีด้วย
"เป็นเรื่องน่ายินดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เตรียมก่อตั้งโรงเรียนดังกล่าวแล้วในอีก 2 ปีข้างหน้า"ศ.ดร.กนก กล่าว และว่า สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปคือ ต้องสร้างให้ครูมีใจรักนักเรียนและภูมิใจในวิชาชีพมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันครูมักต้องการความก้าวหน้าของตัวเองมากกว่านักเรียน นอกจากนี้ควรฟื้นระบบนิเทศชั้นเรียนกลับมา และไม่ต้องจัดสัมมนากันมากมาย
ศ.ดร.กนก กล่าวถึงนโยบายที่ไม่ควรดำเนินการ คือ ยกเลิกการจัดอบรมครูที่ไม่เกิดประโยชน์ และนโยบายประชานิยมทางการศึกษา ซึ่งเราไม่ต้องการนโยบายสวยหรู แต่ต้องการลงมือปฏิบัติจริงในชั้นเรียนมากกว่า และให้มีครูที่มีความรู้ในสาระวิชาที่สอนแท้จริง
ด้านรศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในที่ดินว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหากออกแบบดีจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับการพยายามถือครองที่ดิน เพื่อหวังเก็งกำไรหรือกักตุนการใช้ประโยชน์ที่ดินได้
“ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องการภาษีที่ดินฯ เพียงแต่การตั้งอัตราภาษีค่อนข้างต่ำจะมีประสิทธิภาพในการลดเก็งกำไรหรือกักตุนที่ดินมากน้อยเพียงใด” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าว และว่า ด้วยคนมีอำนาจซื้อมากยังมีศักยภาพที่จะแสวงหาประโยชน์หรือซื้อขายที่ดินได้ ขณะที่คนมีอำนาจซื้อน้อยก็ยังเข้าไม่ถึงอยู่ดี แม้อัตราภาษีจะต่ำ
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า รัฐบาลจึงต้องพึงระวังและเตรียมการรับมือมาตรการจากนโยบายดังกล่าว พร้อมกับคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ ต้องให้ความสำคัญกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนที่ดิน เพื่อนำเงินช่วยเหลือชาวบ้านที่มีที่ดินหลุดมือ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ในพื้นที่ โดยทำอย่างไรให้กองทุนฯ ถูกออกแบบจากท้องถิ่นและมีความยืดหยุ่น รัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น
“รัฐจะมองการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินเฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ไม่ได้ แต่ควรมองภาพอื่น ๆ เข้ามาเสริมกันด้วย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ดียิ่งขึ้น โดยไม่ละเลยบทบาทของ อปท. กองทุนที่ดินจะแก้ปัญหาที่ดินระหว่างชาวบ้านกับนายทุนได้ แต่อาจจะแก้ปัญหาที่ดินระหว่างชาวบ้านกับรัฐไม่ได้ ซึ่งปล่อยทิ้งไว้ปัญหาก็จะเพิ่มสูงขึ้น"
ขณะที่ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำระบบทุนว่า บริษัทขนาดใหญ่ย่อมเติบโตมากกว่าขนาดเล็ก แต่คำถาม คือ การเติบโตเกิดจากความสามารถขององค์กรหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้สูงสุดในปี 2556 เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทส่งออกไม่ต้องแข่งขันกับธุรกิจอื่น (non-traded sector) ซึ่งแตกต่างจากเกาหลีใต้ที่ธุรกิจส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มบริษัทส่งออกแข่งขันกับธุรกิจอื่น (traded sector) ปล่อยให้เกิดการแข่งขันทางการตลาด และเติบโตจากขีดความสามารถ สะท้อนให้เห็นว่า ทุนไทยไม่มีประสิทธิภาพ แต่ใช้อำนาจทางการตลาดมากกว่า
“รายได้จากภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณไม่ดี ด้วยบริษัทขนาดใหญ่หลายรายมีข้อได้เปรียบ โดยเฉพาะการเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากถึงร้อยละ 41 ซึ่งปล่อยให้ความสำเร็จของธุรกิจขึ้นอยู่กับกติกาของรัฐเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่การตลาด ดังนั้น จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว