รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ชี้ ‘หม่อมอุ๋ย’ ไม่เข้าใจหลักกระจายอำนาจ-ซ่อมถนนเละเทะแค่กระพี้
“เหตุใดส่วนกลางจึงปล่อยให้ท้องถิ่นซ่อมแซมถนนเละเทะ และเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ง่าย ๆ แต่ตอบยาก ผู้ว่าราชการจังหวัดกล้าตอบคำถามหรือไม่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล้าตอบคำถามหรือไม่”
จากกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี หัวหอกทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทหาร ออกมาระบุถึงนโยบายการกระจายอำนาจที่ผ่านมา (บางเรื่อง) มีปัญหา ในงานเสวนา ‘เศรษฐกิจไทย ปี 2558 ฟื้นหรือฟุบ’ จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยได้ยกตัวอย่าง สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำแล้วไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป ท้องถิ่นมีความสามารถไม่เพียงพอ ที่รูปธรรมที่ชัดเจนสุด คือ การซ่อมแซมถนนระหว่างหมู่บ้านที่เละที่สุด ไม่มีมาตรฐาน ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท
รวมไปถึงเรื่องจัดระบบการศึกษา และสาธารณสุข ที่รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงว่า จะได้มาตรฐานที่ต่างกัน "กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นของดี แต่ความสามารถของท้องถิ่นบางเรื่องก็ทำไม่ได้ ไม่ควรกระจายไป ควรจำกัดเอาไว้"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ต่อประเด็นดังกล่าว
รศ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังไม่เข้าใจหลักการกระจายอำนาจจึงระบุไปเช่นนั้น
“แก่นแท้ของการกระจายอำนาจ คือ การสร้างความมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองและยกระดับความเข้มแข็งของภาคประชาชน ทว่า ประเด็นที่ท่านสื่อสารออกมากลับเป็นเพียงกระพี้ ซึ่งท้ายที่สุด หากเราไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นลำบาก”
ส่วนกรณีท้องถิ่นก่อสร้างถนนเละที่สุดนั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยอมรับว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจริง ด้วยเพราะงบประมาณที่จัดสรรแก่ อปท.ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องดำเนินโครงการตามศักยภาพที่มี ฉะนั้นกรมทางหลวงชนบทจึงควรจัดสรรงบประมาณและมีหน่วยงานตรวจสอบเฉพาะ
“เหตุใดส่วนกลางจึงปล่อยให้ท้องถิ่นซ่อมแซมถนนเละเทะ และเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล" นี่คือคำถามของนักวิชาการผู้คลุกคลีกับท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ตั้งข้อสงสัย "ง่าย ๆ แต่ตอบยาก ผู้ว่าราชการจังหวัดกล้าตอบคำถามหรือไม่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล้าตอบคำถามหรือไม่”
รศ.อัษฎางค์ ยังระบุถึงบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ดี คือ โครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ ไฟจราจร กล้อง CCTV สนามเด็กเล่น อาหารเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ สาธารณสุขพื้นฐาน ส่วนโรงพยาบาลควรให้รัฐเป็นผู้จัดการ
“เราต้องแยกให้ชัดเจนว่า ส่วนไหนรัฐเป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนไหนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงาน แต่ปัจจุบันกลับพบอำนาจหน้าที่ยังสับสนอยู่”
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยังเปรียบการกระจายอำนาจเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย โดยมีหลักการ คือ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นรับรู้เรื่องภายในพื้นที่และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยรัฐเป็นฝ่ายสนับสนุน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐกลับไม่จริงใจในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ขณะที่ท้องถิ่นก็ไร้ฝีมือที่ดีพอ ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ที่สำคัญ จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการปกครอง เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน
“รัฐส่วนกลางยังหวงอำนาจ จึงมักอ้างว่าท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ”
รศ.อัษฎางค์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขณะนี้คณะทำงานด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแบ่งเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่าง กรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็จะมีความคิดเห็นหลายมุมมองเช่นกัน ดังนั้นจึงเสนอให้นักวิชาการ สมาชิก สปช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดเผยข้อมูลในเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป .
ที่มาภาพ:นสพ.คมชัดลึก