“วิทยุชุมชนคนแปลงยาว” เผยเส้นทางก่อนได้ใบอนุญาตแห่งแรก
“วชช.แปลงยาว” สถานีแรกได้ใบอนุญาต เผยชาวบ้าน-วัดร่วมตั้งกองทุนหนุน ห่วงหลายที่อยู่ไม่รอดเพราะไร้ทุน “เลขาฯสหพันธ์ วชช.” ติง กสทช.ช้า 2 ปีเพิ่งให้ใบอนุญาตเพียง 1 จาก 6 พันแห่ง จี้เร่งออกระเบียบวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก-ตั้งกองทุน วชช.
จากกรณีที่ปลายเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราวใบแรก ให้กับสถานีวิทยุชุมชนคน แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีระยะเวลา 1 ปี
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สัมภาษณ์นายตฤณ ใหม่เอี่ยม ผู้บริหารสถานีวิทยุชุมชนคนแปลงยาว ซึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสถานีว่าเกิดจากขอยืมเครื่องส่งจากที่อื่นมาทดลองออกอากาศที่บ้านของตนใน 2547 ต่อมาเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน จึงย้ายสถานีมาตั้งที่วัดเนินไร่ ต.แปลงยาว ในปี 2548 และชาวบ้านได้ร่วมกันทำกิจกรรมหาเงินเข้ากองทุนสนับสนุนสถานีวิทยุชุมชน จัดชื้อเครื่องส่งวิทยุใหม่เป็นของสถานีเอง โดยมีขอบเขตการกระจายเสียงตามระเบียบ 15 กิโลเมตร และทางวัดยังสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟ ส่วนนักจัดรายการวิทยุมาจากคนในชุมชนเองที่สมัครใจมาช่วยโดยไม่มีค่าตอบแทน
ส่วนเนื้อหาสาระรายการจะเน้นเรื่องข่าวสารของชุมชน รองลงมาเป็นเรื่องสุขภาพจากโรงพยาบาลตำบลชแปลงยาว และสาระบันเทิงเพื่อความบันเทิงของชาวบ้าน
นายตฤณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุด คือการที่วิทยุชุมชนคนแปลงยาวได้ทำเพื่อสังคมและเป็นสื่อเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง เช่น เคยจัดรายการหารายได้บริจาคช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมบริจาคทั้งเงินและสิ่งของจำนวนมาก ส่วนการที่ได้ใบอนุญาตวิทยุชุมชนเป็นที่แรกก็ภูมิใจว่าทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นวิทยุชุมชนอย่างเต็มตัว และอยากฝากถึงวิทยุชุมชนที่อื่นๆว่าอย่าเพิ่งท้อใจในการทำงาน เพราะที่ผ่านมามีหลายแห่งที่ทำเพื่อชุมชนจริงแต่อยู่ไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูง หรือบางแห่งต้องหาทางรอดโดยการมีโฆษณา หรือเปลี่ยนเป็นวิทยุที่แสวงกำไร
“วิทยุชุมชนคนแปลงยาวก็ผ่านอุปสรรคต่างๆมากมาย ครั้งแรกที่เปิดก็ไม่มีเงิน ต้องขอรับบริจาคซึ่งชาวบ้านก็ช่วยเพราะเห็นว่าเราเป็นสื่อเพื่อชุมชน ต่อมาวัดก็ช่วย ชาวบ้านก็อาสามาช่วยจัดรายการ ส่วนการยื่นขอใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราว ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำข้อมูลของสถานี รายชื่อคณะกรรมการบริหาร และผังรายการตามสัดส่วนที่ กสทช.กำหนด เช่น เนื้อหา 70% บันเทิง 30%” นายตฤณ กล่าว
ด้าน นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เปิดเผยว่ากว่า 2 ปีที่ กสทช.ได้เข้ามามีบทบาทกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ แต่การออกใบอนุญาตชั่วคราวให้วิทยุชุมชนที่ผ่านมาล่าช้ามาก ซึ่งเพิ่งมีแปลงยาวเป็นสถานีแรก ส่วนอีก 6,000 กว่าแห่งทั่วประเทศยังไม่ได้รับใบอนุญาต จำนวนนี้มีสถานีที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว 100 แห่ง แต่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบด้านเทคนิค ทั้งนี้ยังไม่รวมวิทยุภาคธุรกิจขนาดเล็กหรือวิทยุชุมชนที่เปลี่ยนสภาพเป็นวิทยุที่แสวงหากำไร
นายวิชาญ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนว่าสถานีไหนเป็นวิทยุชุมชนแท้หรือไม่แท้ เพราะ กสทช.ได้ออกระเบียบเรื่องการขึ้นทะเบียนจัดตั้งและการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนเท่านั้น ซึ่งทางสหพันธ์ฯเห็นว่าควรมีระเบียบสำหรับวิทยุภาคธุรกิจขนาดเล็กที่แสวงกำไรและมีโฆษณาด้วย เพื่อที่ได้แยกออกจากกันชัดเจน โดยอาจจะให้มีการเก็บภาษีกับผู้ประกอบสถานีวิทยุภาคธุรกิจนั้น ส่วนวิทยุชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริงรัฐควรตั้ง “กองทุนวิทยุชุมชน” และจัดสรรงบประมาณดำเนินการให้ เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ
เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่าคุณสมบัติของวิทยุชุมชน ต้องมาจากภาคประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อบริการชุมชน โดยนำเสนอความเคลื่อนไหวและสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน มีเนื้อหารายการที่ครอบคลุม เช่น ข่าว สารคดี ความรู้ บันเทิง และไม่มีการขายโฆษณา นอกจากนี้ ต้องไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองทางถิ่น หรือนำเสนอเรื่องราวในทางขัดแย้ง ทำให้เกิดความแตกแยกของสังคมและชุมชน ส่วนการหารายได้เข้าสถานีต้องมาจากการบริจาคเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไม่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น ชาวบ้านอาจจะตั้งเป็นเงินกองทุนให้วิทยุชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า “วิทยุชุมชน” คือ “วิทยุที่ประกอบกิจการแบบไม่แสวงหากำไร ไม่มีรายได้จากโฆษณา” ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหลักของวิทยุชุมชนที่เข้าข่ายได้รับใบอนุญาต .
ที่มาภาพ http://www.esaanvoice.net/FM106.25/index.php/2010-03-27-15-59-28