นักวิทยาศาสตร์ยื่นจม.เปิดผนึก ‘บิ๊กตู่’ ยับยั้งปลูกพืช GMOs ในแปลงเปิด
มูลนิธิชีววิถีเผยผลหารือคกก.จีเอ็มโอ นัดสอง ไร้ข้อสรุป เชื่อรัฐบาลเดินหน้าปลูกพืช GMOs เชิงพาณิชย์ ด้าน 22 นักวิชาการต่างชาติยื่นจม.เปิดผนึก ‘พล.อ.ประยุทธ์’ หนุนยับยั้งทดลองปลูกในแปลงเปิด แนะใช้วิธีเทคโนโลยียีนเครื่องหมาย
สืบเนื่องจากกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมผลักดันให้มีการทดลองปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms:GMOs) ในแปลงเปิดระดับไร่นา นำมาสู่การคัดค้านของเครือข่ายเกษตรกรรมและองค์กรภาคประชาสังคม พร้อมกับยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยถึงผลการประชุม ‘คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย’ ครั้งที่ 2 ว่า เรียกร้องให้มีการเผยแพร่รายละเอียดของ(ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... จะเป็นเงื่อนไขให้มีการทดลองการปลูกพืช GMOs ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ (ร่าง) กฎหมายฉบับดังกล่าวยังขาดเนื้อหาเกี่ยวกับการชดเชยและเยียวยาความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบไม่ชัดเจน รวมถึงการเปิดโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อทราบถึงขั้นตอนการตัดต่อพันธุกรรมพืชและทดลอง ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จำเป็นต้องเร่งหารือและจัดรับฟังความคิดเห็น
ส่วนความคืบหน้าหลังจากการหารือครั้งนี้ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุว่า น่าจะนำเสนอประเด็นการหารือต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่มิใช่ข้อสรุป ทั้งนี้ ตามกติกาแล้วจะต้องรอผลการศึกษาของคณะทำงานชุดนี้ก่อน จึงสรุปผลได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลคงเดินหน้าผลักดันการปลูกพืช GMOs เชิงพาณิชย์ในประเทศแน่นอน
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ไทยยอมรับในหลักการทดลองปลูกพืช GMOs มาตลอด ซึ่งเราไม่ปฏิเสธเรื่องการทดลอง เพียงแต่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ฉะนั้นหากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ทดลองปลูกในแปลงเปิดระดับไร่นา จะนำมาสู่การทดลองเชิงพาณิชย์ทันที สิ่งเหล่านี้จึงต้องสร้างหลักการขึ้นมารองรับ มิฉะนั้นผลกระทบจะเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช เป็นที่ทราบกันดีว่าเมล็ดพันธุ์พืช GMOs กว่าร้อยละ 90 อยู่ในมือของกลุ่มบริษัทเดียว และอาจจะส่งผลต่อตลาดส่งออกไทย เพราะผู้บริโภคมีแนวโน้มต่อต้านสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งแม้ไทยจะไม่ปลูกเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อมีกระแสข่าวให้ปลูกในแปลงเปิดระดับไร่นานก็จะเกิดอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้
ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวอีกว่า เรื่องใหญ่มากกว่านั้น คือ การปลูกพืช GMOs จะทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ซึ่งจะทำลายทางเลือกอื่นของการพัฒนาเกษตรกรรม อีกทั้ง สหรัฐฯ และยุโรป ยังยืนยันการอนุญาตปลูกเชิงพาณิชย์หรือปลูกในแปลงเปิดระดับไร่นา โดยไม่มีกฎหมายรองรับที่เข้มงวด จะนำมาสู่การปนเปื้อนจนยากจัดการได้ และทำลายระบบอื่นโดยอัตโนมัติ
“ข้าวโพด GMOs สายพันธุ์สตาร์ลิงค์ ในสหรัฐฯ ถูกยกเลิกมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อปี 2556 ซาอุดิอาระเบียได้ตรวจพบการปนเปื้อนในข้าวโพดนำเข้าเป็นสายพันธุ์ดังกล่าว จึงถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเจอ” นายวิฑูรย์ ทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เร็ว ๆ นี้ นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ จำนวน 22 คน อาทิ ดร.ไมเคิล แอนโทนิโอ ภาควิชาการแพทย์และพันธุศาสตร์โมเลกุล คิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ, ดร.วันทนา ศิวะ นักฟิสิกส์และนักสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลทางเลือก ปี 1993, ดร.ราช พาเทล มหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย เพื่อสนับสนุนจุดยืนของสภาเกษตรกรแห่งชาติและเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยในการคัดค้านการทดลองปลูกพืช GMOs ในแปลงเปิดระดับไร่นา
พร้อมกันนี้ยังแสดงความกังวลเป็นอย่างมากหากมีการนำพืช GMOs มาใช้ในไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารและมีความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยจะส่งผลกระทบในทางลบอย่างสำคัญ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยให้นำเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ดีกว่า นั่นคือ การผสมพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยียีนเครื่องหมาย (marker-assisted plant breeding) และการผลิตแบบนิเวศเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน .
อ่านประกอบ:จม.เปิดผนึก 22 นักวิชาการระหว่างประเทศหนุนยับยั้งทดลองปลูกจีเอ็มโอในไทย
เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ยื่นหนังสือ รบ. ทบทวนทดลองพืช GMOs
เอ็นจีโอ ชี้ 'ประยุทธ์ มองให้ออก GMO ปัญหาความมั่นคงชาติ ทำลายเกษตรกรรายย่อย
ภาพประกอบ:www.monmai.com