นายกฯภารโรง ยันตั้งส.ปกป้องสิทธิ-ถูก"ครู"แกล้งให้ออกเอาญาติเสียบแทน
นายกฯ"นักการภารโรง"คนแรก เผยเบื้องหลังจัดตั้งสมาคมฯ ย้ำวัตถุประสงค์หลักปกป้องพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมอาชีพภารโรงทั่วปท. เรียกร้องก.ศึกษา บรรจุตำแหน่งทางการ หลังครองสถานะแค่ลูกจ้างชั่วคราวนานนับ 10 ปี กินเงินไม่ถึงหมื่น ไร้สวัสดิการ ระบุบางรายเดือนร้อนหนักถูก "ครู" กลั่นแกล้งให้ออกจากงาน เอาญาติพี่น้องมาเสียบแทนเพียบ
จากกรณีกลุ่มนักการภารโรง ในจังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมตัวกันจดทะเบียนจัดตั้ง "สมาคมนักการภารโรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3" มีวัตถุประสงค์ จำนวน 6 ข้อ คือ 1. พิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมของนักการภารโรง 2. เป็นสื่อกลางติดต่อ ประสานงานระหว่างสมาชิก หน่วยงานทางราชการ เอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 3. ส่งเสริมให้นักการภารโรงมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ 4. สนับสนุนการจัดการศึกษา อย่างมีอิสระ โดยยึดมั่นในนโยบายการศึกษา ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 5.ส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก และ 6. ไม่ดําเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด เบื้องต้นมีคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ จำนวน 22 คน ปรากฎชื่อนายหนูเดช ลาโยธี ดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคม ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น
(อ่านประกอบ : "ภารโรง"จ.มหาสารคาม รวมตัวจัดตั้งสมาคมฯ"พิทักษ์สิทธิ-ส่งเสริมวิชาชีพ")
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.57 นายหนูเดช ลาโยธี นายกสมาคมนักการภารโรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตนและเพื่อนภารโรงในจ.มหาสารคาม ตัดสินใจจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้นมา คือการพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมของนักการภารโรงที่ควรได้รับ โดยเฉพาะเรื่องการรับบรรจุตำแหน่ง เพื่อให้ได้รับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการทำหน้าที่ของภารโรงทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีภารโรงในกลุ่มที่เป็นสถานะลูกจ้างชั่วคราวยังไม่ได้รับการบรรจุอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ
"ผมเข้ามาทำงานเป็นภารโรงตั้งแต่ เมื่อปี 42 เป็นลูกจ้างชั่วคราว ต่ออายุสัญญาทุก 6 เดือน ได้รับเงินเดือน 9,000 บาท ไม่มีสวัสดิการอะไรช่วยเหลือ หักประกันสังคมแล้วก็เหลือประมาณ 8,000 กว่าบาท ครอบครัวก็มีภารค่าใช้จ่ายจำนวนมากไม่พอกิน ขณะที่ภารโรงที่ได้รับการบรรจุแล้วมีเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นเกือบ 2 หมื่นบาท มันเป็นอะไรที่แตกต่างกันมาก ซึ่งเพื่อนภารโรงคนอื่นก็ประสบประสบปัญหานี้เหมือนกันทั้งหมด"
นายหนูเดช ยังกล่าวต่อไปว่า อาชีพนักการภารโรง เป็นงานหนักที่ต้องรับผิดชอบภารกิจหลายอย่างในปัจจุบัน และแต่ละคนก็มีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวจำนวนมาก กลุ่มภารโรงที่ได้รับการบรรจุไปแล้ว ได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนรวมถึงสวัสดิการที่ดีคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งมีจำนวนมากในปัจจุบันจะมีปัญหามาก และควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ควรถูกมองข้าม
"นอกจากปัญหาเงินเดือนค่าตอบแทนที่น้อยแล้ว ภารโรงในโรงเรียนบางแห่งก็ยังถูกกลั่นแกล้งจาก ครู และผู้มีอำนาจในโรงเรียนด้วย คือ เมื่อก่อนเงินเดือนภารโรงอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท ไม่ค่อยมีคนมาทำ แต่ตอนนี้ปรับขึ้นมาเป็น 9,000 บาท ครูบางคนก็อยากจะเอาญาติพี่น้องมาทำแทน ก็เลยพยายามหาทางกลั่นแกล้งให้คนเก่าออกจากงานไปก็มีเยอะ"
นายหนูเดช กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมฯ มีสมาชิกประมาณ 100 คน ทั้งหมดมีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว ในตำแหน่งนักการภารโรง ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 ซึ่งที่ผ่านมมาได้มีการก่อตั้งเป็นชมรม เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษา รับบรรจุตำแหน่ง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร จึงมีความคิดที่จะจัดตั้งสมาคมขึ้นมาขับเคลื่อนงานใหม่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางสมาคมฯ ได้เดินทางไปยืนเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาเป็นทางการแล้ว
"ล่าสุดทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งตอบกลับมาว่า ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับเรื่องไปพิจารณาต่อแล้ว ตอนนี้พวกเราก็กำลังอยู่ระหว่างรอฟังข่าวอยู่ว่าสพฐ.จะว่าอย่างไรกับข้อร้องเรียนของเรา" นายกสมาคมนักการภารโรงกล่าว