ย้อนรอย ‘อารยะ’ ขัดขืน (นัก) หนังสือพิมพ์ในอ้อมกอดเผด็จการ
“…ตลอดการรัฐประหาร 13 ครั้ง ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ กระบวนการหนึ่งที่ “คณะปฏิวัติ” ต่างยึดเป็นแบบแผนคือการควบคุมสื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้ครองอำนาจต้องการ โดยในอดีตรุนแรงถึงขั้นควบคุมทั้งกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ข่มขู่ คุกคาม ยึดแท่นพิมพ์ ไปจนถึงจับกุมคุมขังนักหนังสือพิมพ์…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นบทความในจุลสารราชดำเนิน ฉบับที่ 28 ตุลาคม 2557 ชื่อบทความ “ย้อนรอย ‘อารยะ’ ขัดขืน (นัก) หนังสือพิมพ์ในอ้อมกอดเผด็จการ” เขียนโดย วิจักรพันธุ์ หาญลำยวง
----
ตลอดการรัฐประหาร 13 ครั้ง ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ กระบวนการหนึ่งที่ “คณะปฏิวัติ” ต่างยึดเป็นแบบแผนคือการควบคุมสื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้ครองอำนาจต้องการ โดยในอดีตรุนแรงถึงขั้นควบคุมทั้งกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ข่มขู่ คุกคาม ยึดแท่นพิมพ์ ไปจนถึงจับกุมคุมขังนักหนังสือพิมพ์
จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ รัฐประหารรัฐบาลที่ตัวเองตั้งมากับมืออย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จากนั้นมีคำสั่งควบคุมการนำเสนอข่าว ส่งผลให้หนังสือพิมพ์หลายสำนักถูกปิด อิศรา อมันตกุล กับพวกถูกจับกุม
ขณะนั้น อิศรา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ เขาถูกจับกุมด้วยข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกคุมขังนานถึง 5 ปี 10 เดือน ก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการส่งฟ้องศาล
แม้ว่าในสมัยนั้นผู้คครองอำนาจจะกระทำอย่างรุนแรงเพียงใด นักหนังสือพิมพ์กลับยืนหยัดประกาศจุดยืนต่อต้านการยึดอำนาจโดยไม่สยบยอม
นิตยสารสารคดีฉบับเดือนเมษายน 2554 ที่ทำสารคดีประวัติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อ้างอิงไว้ตอนหนึ่งว่า ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2494 หลังความพยายามก่อรัฐประหารของกลุ่มทหารเรือ ที่ต่อมาเรียกกันว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ล้มเหลว รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึก พร้อมกับมีนโยบายให้ตรวจข่าว (เซ็นเซอร์-censor) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก่อนจะส่งโรงพิมพ์อย่างเข้มงวด
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สยามรัฐไม่พอใจอย่างยิ่ง ประกาศหยุดคอลัมน์ประจำที่เคยเขียนทั้งหมด รวมทั้งนิยาย “สี่แผ่นดิน”
พร้อมกันนั้น “สยามรัฐ” ประท้วงการตรวจข่าวด้วยการหันไปลงข่าวที่ “ปราศจาก” การเมือง ผู้ที่เสียเงิน 50 สตางค์ซื้อ “สยามรัฐรายวัน” จะได้อ่านข่าวที่หาไม่ได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นใด เช่น ต้นหมากที่หลังโรงพิมพ์มีกี่ต้น หน้าต่างตึกกระทรวงกลาโหมมีกี่บาน ทราบจำนวนเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ลอยผ่านพระนครไปเมื่อวานนี้ หรือรู้กระทั่งว่าตุ๊กแกของไทย ร้องไม่เหมือนกับตุ๊กแกฝรั่ง และตุ๊กแกไหหลำอย่างไรบ้าง
ข่าวพาดหัวหน้า 1 ที่เป็นที่จดจำกันมากที่สุดคือฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2494 “รายงานข่าวด่วนจากคึกฤทธิ์ พระอาทิตย์ที่หัวหินขึ้นผิดทางกับศรีราชา สงสัยพระอาทิตย์มี 2 ดวง” เนื้อข่าวกล่าวว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปสังเกตการณ์ทางธรรมชาติวิทยาที่หัวหิน ค้นพบว่าอาจมีพระอาทิตย์มากกว่า 1 ดวง เพราะที่ศรีราชา จ.ชลบุรี พระอาทิตย์ขึ้นจากภูเขาและตกในทะเล ต่างจากที่ชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พระอาทิตย์ กลับขึ้นจากทะเลแล้วตกไปทางภูเขาแทนแต่ยืนยันว่า ทั้งสองดวงนี้เป็ฯดวงโต-กลม-ร้อนเหมือนกัน
ย้อนกลับไปปี 2534 นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น รัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมามีการเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จากผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์เริ่มทวีความรุนแรง มีผู้คนออกมาประท้วง สื่อทีวีถูกตีกรอบให้นำเสนอแต่ด้านบวกของ รสช.
เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ก็ถูกตีกรอบจำกัดสิทธิเสรีภาพต้นฉบับต้องผ่านการตรวจสอบจากนายทหาร จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสลายผู้ชุมนุมถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 อันเป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ หนังสือพิมพ์แม้จะถูกจำกัดการนำเสนอ แต่ก็มีหนังสือพิมพ์บางฉบับที่แสดงจุดยืนต้านคณะทหารที่ใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม และบ่งบอกถึงการไม่ยอมรับการเข้ามาควบคุมทิศทางการเสนอข่าว
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 หลายหน้า จึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “หน้าว่าง”
รัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดูเหมือนว่ามีเพียง “โลกวันนี้วันสุข” รายสัปดาห์ ฉบับที่ 31 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2557 ที่แสดงออกต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน ด้วยการตีพิมพ์ “หน้าว่าง” จำนวน 10 หน้า และได้นำประกาศ คช. ฉบับที่ 18 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารขึ้นหน้าปก
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความซับซ้อนในสถานการณ์บริบทการเมือง ต่างคนต่างมีชุดอธิบายจุดยืน ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝั่งประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีอันเป็นอำนาจมาจากประชาชน แต่อีกส่วนก็มองเผด็จการว่าแม้ไม่ได้มาจากประชาชนแต่รูปแบบที่ทำก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป
เช่นเดียวกับความคิดเห็นผ่านการนำเสนอของสื่อก็มีความเห็นที่แตกต่างในจุดยืน เราจึงไม่ได้เห็นมุมมองที่พร้อมใจอารยะขัดขืนเหมือนในอดีต