การตายของ"เจะรอฮานี ยูโซ๊ะ" กับวงจร"อุ้ม-ฆ่า"ที่ชายแดนใต้
การดักสังหาร เจะรอฮานี ยูโซ๊ะ กลางถนนกลางวันแสกๆ ของวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมาในท้องที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แทบไม่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อแขนงใด แม้แต่ตำรวจ ทหารในพื้นที่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจว่าเธอคือใคร ทั้งๆ ที่คดีนี้มีความสำคัญมาก สะท้อนถึงวงจร “อุ้ม-ฆ่า” และละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม
การเสียชีวิตของ เจะรอฮานี วัยเพียง 26 ปี อนุมานได้ว่าน่าจะเกี่ยวเนื่องกับกรณีที่สามีของเธอ นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อราว 2 ปีก่อน โดยอับดุลเลาะห์เป็นพยานปากสำคัญในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนซึ่งเป็นลูกความของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งถูกอุ้มหายไปเหมือนกันเมื่อ 7 ปีที่แล้ว (มี.ค.2547)
คดีของเจะรอฮานีจะเป็นคดีฆ่าอีกคดีหนึ่งที่เงียบหายไปอย่างแน่นอน เพราะตำรวจหาพยานไม่ได้ ไม่มีใครกล้าเปิดปากเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุ
ประเด็นที่มิอาจมองข้ามก็คือ ชะตากรรมของ เจะรอฮานี และ อับดุลเลาะห์ อาบูคารี สามีของเธอ ผูกโยงเกี่ยวพันไปถึงคดีความมั่นคงอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายคดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าแปลกที่คดีเหล่านั้นล้วนมีปมการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เริ่มจาก อับดุลเลาะห์ อาบูคารี เป็นพยานปากสำคัญซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เขาหายตัวไปอย่างลึกลับและเป็นปริศนาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2552 และกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีเลยแม้แต่น้อย
อับดุลเลาะห์ คือพยานในคดีซ้อมทรมานลูกความของ นายสมชาย นีละไพจิตร เพื่อให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งเป็นคดีที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าทำให้ ทนายสมชาย ถูกอุ้มหายและน่าจะเสียชีวิตแล้ว
คดีอุ้มทนายสมชาย ศาลอุทธรณ์เพิ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุข อดีตสารวัตรกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (อดีต สว.กอ.รมน.) ช่วยราชการกองบังคับการปราบปราม จำเลยเพียงคนเดียวที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีประเด็นสงสัยว่าพยานจำหน้าจำเลยได้จริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ขณะที่ พ.ต.ต.เงิน นั้น หายตัวไปจากอุบัติเหตุโคลนถล่มที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เมื่อกลางเดือน ก.ย.2551 ระหว่างการอุทธรณ์สู้คดี ท่ามกลางความกังขาของผู้เสียหายในคดี เพราะไม่มีใครพบศพ
วันที่ 22 ธ.ค.2553 มีความคืบหน้าในคดีที่นายอับดุลเลาะห์เป็นพยาน กล่าวคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติไม่รับคำร้องหลังใช้เวลาพิจารณานานถึง 5 ปี โดยชี้ว่าข้อกล่าวหาตำรวจ 19 นายซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนนั้นไม่มีมูล ทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีนายตำรวจระดับ “พลตำรวจเอก” และ “พลตำรวจโท” ชื่อดังและยังอยู่ในราชการรวมอยู่ด้วยทะยอยฟ้องกลับผู้กล่าวหา บางรายถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกฐานแจ้งความเท็จบ้างแล้ว
คดีแรกคือคดีของ นายซูดีรือมัน มาเละ ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2554 ลงโทษจำคุก 2 ปี
นอกจากนั้นยังมีคดี “แจ้งความเท็จ” ที่ตำรวจแจ้งความกลับเพื่อดำเนินคดีต่อกลุ่มพยานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายคดี เช่น เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย.2554 พยานจำนวน 14 คนในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนและอั้งยี่ซ่องโจร จากเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ได้ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเรียกตัวมาแจ้งข้อหา “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ” หลังจากทั้งหมดกลับคำให้การในชั้นศาล ทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีนายนัจมุดดีน
ขณะเดียวกัน นายตำรวจยศพลตำรวจเอกนายหนึ่ง ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีกับพยานกลุ่มนี้ด้วย หลัง ป.ป.ช.ยกคำร้องคดีที่มีการกล่าวหาซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน
เป็นที่น่าสังเกตว่า การร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง”
การแจ้งความกลับเพื่อให้ลงโทษพยานที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้ “พยาน” กลายเป็น “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” และสุดท้ายยังต้องรับโทษจำคุก ถูกตั้งคำถามจากนักสิทธิมนุษยชนว่า แล้วต่อไปใครจะกล้าเป็นพยานในคดีฟ้องร้องเจ้าหน้าที่
ขณะที่การร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีซ้อมทรมานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญามาตั้งแต่ปี 2550 ผู้ร้องเรียนโดยสุจริตย่อมได้รับการคุ้มครอง
แต่นายซูดีรือมัน ทั้งๆ ที่เป็นพยานให้ดีเอสไอ กลับถูกดำเนินคดีและโดนโทษจำคุก ส่วน อับดุลเลาะห์ อาบูคารี พยานอีกคนก็ถูกอุ้มหายระหว่างการอยู่ในโปรแกรมคุ้มครองพยานเช่นกัน
ตัวเลขที่เก็บรวบรวมโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพและเปิดแถลงเนื่องในวันรำลึงถึงผู้สูญหายสากล ระบุว่า มีกรณี “คนหาย” ตลอด 7 ปีแห่งความรุนแรงไฟใต้แล้วถึง 34 ราย
ย้อนกลับไปที่การสังหาร เจะรอฮานี และการหายตัวไปของอับดุลเลาะห์ ทั้งสองคดีทำให้ลูกสาวและลูกชายวัยไม่ถึงสิบขวบของทั้งคู่ต้องกลายเป็นกำพร้า เช่นเดียวการสูญเสียทนายสมชายของ อังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของนางอย่างรุนแรง
ขณะที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกันเป็นพยานของหน่วยงานรัฐ ต้องถูกกักบริเวณเพื่อรอการพิจารณาคดีของศาลซึ่งใช้เวลานานหลายปี พวกเขาต้องตกอยู่ในสภาพเสมือนสิ้นอิสรภาพไปด้วย หลายคนไม่ได้พบหน้าลูกเมียและคนในครอบครัว
แต่นายตำรวจซึ่งเคยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหลายนาย วันนี้กำลังรุ่งโรจน์อยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บางคนเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลชุดใหม่
ไม่ว่าวงจรความรุนแรงนี้เกิดขึ้นจากฝ่ายใด แต่มันทำให้ปรากฏการณ์ “อยุติธรรม” ยังคงเด่นชัดยิ่งในชายแดนใต้ และกลายเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงลูกโซ่ที่จะเกิดต่อเนื่องไป!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจะรอฮานีกับลูกๆ และทนายสมชาย นีละไพจิตร (ภาพผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
อ่านประกอบ :
- การตายอันเงียบกริบของ "เจะรอฮานี" กับกรณี "อุ้มหาย" ในสังคมไทย
- ภรรยาพยานคดีซ้อมผู้ต้องหาปล้นปืนที่หายตัวลึกลับถูกยิงดับแล้ว!