“ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” บ้านเมืองไม่มีเวลาสำหรับความแตกแยกอีกแล้ว?
“บางพวกเรียกทหารมา ถึงเวลาสักพักบอกให้ทหารออกไปได้แล้ว บางพวกก็ชื่นชมกับประชาธิปไตย แต่สักพักก็เบื่อประชาธิปไตยเหลือเกิน อยากให้ทหารเข้ามา ฉะนั้นการเมืองไทยมีความก้าวหน้าแฝงอยู่ในความไม่ก้าวหน้า มีการเปลี่ยนแปลงแฝงอยู่ในความไม่เปลี่ยนแปลง”
ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศไทย “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” สมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) และเป็น1 ใน 36 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเชิญไปบรรยายบนเวทีการประชุมวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง “บทเรียนสู่อนาคตเพื่อประชาธิปไตยไทยที่มีคุณภาพ” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ดร.เอนก” เปิดประเด็นว่า การเมืองไทยดูผิวเผินไม่ได้แต่ต้องดูอย่างเพ่งพิศ เช่น คนไทยเป็นคนที่สามัคคีกันมาก แต่ในความสามัคคีก็ขัดแย้ง แข่งขัน ต่อสู้กันมาตลอดตั้งแต่วันแรกที่มีรัฐธรรมนูญ แต่สังคมไทยก็อยู่มาได้ภายใต้ความขัดแย้ง
“เราขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่2475 แต่สังคมไทยอยู่ได้บนความขัดแย้ง เป็นสังคมที่ประหลาดมาก เหมือนขัดแย้งกันมากแต่ก็รอมชอมกันได้ ดูผิวเผินเหมือนขัดแย้ง แตกแยก ไม่รู้จักเลิก แต่ดูให้ลึกลงไปก็ไม่ยอมแตกแยกหรือหักล้างถึงที่สุด”
สมาชิกสปช. กล่าวว่า ประชาธิปไตย 80 ปีที่ผ่านมา คือการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของระบอบรัฏฐาธิปัตย์หรือระหว่างยึดอำนาจกับระบอบการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่มีความชอบธรรมเชิงระบอบว่าอะไรชัดเจน
ทั้งนี้ เป็นเพราะคนไทยประเมินการเมืองโดยผลงาน ไม่ได้ประเมินโดยความชอบธรรมเชิงระบอบ ฉะนั้นใครที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งก็อย่าประมาทว่าจะอยู่ในอำนาจได้นาน อย่าประมาทอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เป็นอันขาด ส่วนท่านที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ก็อย่าประมาท เพราะประชาชนไทยสามารถเหวี่ยงกลับไปเป็นระบอบเลือกตั้งได้ไม่ยากนักเช่นกัน นี่เป็นระบอบที่หายากในโลกนี้
“บางพวกเรียกทหารมา ถึงเวลาสักพักบอกให้ทหารออกไปได้แล้ว บางพวกก็ชื่นชมกับประชาธิปไตย แต่สักพักก็เบื่อประชาธิปไตยเหลือเกิน อยากให้ทหารเข้ามา ฉะนั้นการเมืองไทยมีความก้าวหน้าแฝงอยู่ในความไม่ก้าวหน้า มีการเปลี่ยนแปลงแฝงอยู่ในความไม่เปลี่ยนแปลง”
ดร.เอนก เล่าว่า สมัย 14 ตุลา 16 ไม่มีใครคิดว่าจะมีคนชั้นกลางออกมาประท้วง มีแต่นักศึกษา มองการต่อสู้เป็นเรื่องพลเรือนกับทหาร แต่แล้วพฤษภา35 คนชั้นกลางเข้ามาในเวทีการเมือง คนชั้นกลางมีจริง มาสู่เวทีจริง
“หรือปี‘35 ถามผมว่า เห็นคนชั้นล่างประท้วงหรือเปล่า ก็คิดไม่ออกเหมือนกัน แต่พอปี2549-2553 มาเลยครับ คนชั้นล่างซึ่งไม่เพียงแต่หย่อนบัตรเท่านั้น แต่ยาตรามาเต็มและเยอะด้วย และดูเหมือนจะจบด้วยชัยชนะของชนชั้นล่าง แต่ในที่สุดคนชั้นกลางก็ออกมาจำนวนมหาศาลอีก”
“นอกจากนี้ ผมคิดว่าเมืองไทย ดุลอำนาจสมดุลมากๆจนกระทั่งไม่มีใครเป็นนายกฯได้นาน ทหารก็อยู่ได้ไม่นาน นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่ไม่นาน คนที่อยากจะอยู่นานๆก็ทำผิดธรรมนูญไทย”ฉะนั้นเรามีวิธีคิดได้หลายแบบ แต่วิธีคิดที่เราจะทำงานได้หลังจากนี้คือต้องกล้าคิดเชิงบวก”
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะกำหนดว่าการจัดตั้งรัฐบาลได้จะต้องมีเสียง 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ไม่ใช่แค่1ใน2 ซึ่งจะเกิดเป็นรัฐบาลผสมที่อาจคาดการณ์ทั้งหมดไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐธรรมนูญจะช่วยบีบให้การเมืองจะต้องเป็นเสียงข้างมากที่มากกว่าครึ่งหนึ่งให้มากมาก
“รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทำให้เกิดผู้ชนะก็ชนะหมด ผู้แพ้ก็แพ้หมดเลย ใครแพ้ไปเป็นฝ่ายค้านเลย อย่างในเนเธอแลนด์มีรัฐบาลผสมตลอดกาล จะไม่ดันคนพวกหนึ่งไปเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล สังคมไทยเมื่อก่อนไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลผสมแบบนี้ แต่วันนี้ความแตกแยกในสังคมชัดเจนเหลือเกิน ฉะนั้น เอาความขัดแย้งมาถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญได้ไหม”
“แปลว่าฝ่ายที่ขัดแย้งกันต้องไปร่วมกันตั้งรัฐบาลผสม แต่ก็มีข้อเสียคือการเป็นฝ่ายค้านลดบทบาทลงในสังคม แต่หากเราชอบที่จะกลับไปทำแบบเดิม ก็เขียนเอาไว้ 5 ปีก็ได้ เป็นเฉพาะกาล แล้วจากนั้นจะกลับไปใช้เสียงข้างมากเกิน 1ใน 2 ตามปกติก็แล้วแต่ท่าน”
“หมายความว่าเขียนรัฐธรรมนูญให้คู่ขัดแย้งเข้ามาร่วมกันอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีฉันทามติว่าบ้านเมืองแตกแยกมากแล้ว ไม่มีเวลาให้สำหรับความแตกแยกอีกแล้ว ฉะนั้นต้องรวมกัน แต่การควบคุมตรวจสอบรัฐบาลก็ยังใช้องค์กรอิสระและต้องทำให้เข้มแข็งขึ้น เขียนมาตรการใดที่จะทำให้การดำเนินคดี การพิจารณาคดีทางการเมืองให้มันสำเร็จลุล่วงในเวลาที่เร็ว องค์กรอิสระเป็นเรื่องดีควรจะมีไว้ แต่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้”
ดร.เอนก ยังกล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองต้องกล้าคิดอะไรใหม่ๆ อย่าไปยึดติดว่าจะเป็นระบบรัฐสภาแล้ว จะต้องเป็นรัฐสภาทั้งหมด หรือจะต้องเป็นแบบเยอรมันหรือฝรั่งเศส ถึงเวลาที่จะต้องคิดและเขียนรัฐธรรมนูญจากปัญหาของสังคมไทยอย่างแท้จริง
“ผมคิดว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สมบัติของคนตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นประชาธิปไตยที่ใช้กันทั้งโลก ส่วนต่างๆของโลกควรมีคุณูปการต่อการเขียนรัฐธรรมนูญ เราอยากจะเป็นอย่างตะวันตก แต่จะไปลอกเลียนวิธีเขาเสียทีเดียวคงไม่ได้ เราจะต้องเข้าใจสังคมไทยแท้ๆของเรา แล้วออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับลักษณะของสังคมไทยแท้”
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับประเทศไทย คือ ระบบอุปถัมภ์ แต่คนไทยก็ขาดระบบอุปถมภ์ไม่ได้ ฉะนั้นทำอย่างไรจะอยู่กับระบบอุปถัมภ์ได้ ทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยยอมรับระบบอุปถัมภ์ได้ แต่เป็นอุปถัมภ์ที่มีหลักการและเหตุผล
"ที่สำคัญทำอย่างไรถึงจะเขียนรัฐธรรมนูญไม่ให้ก้าวไปสู่คอร์รัปชั่นได้อย่างง่ายดายรวมทั้งต้องออกแบบที่จะให้ทุนการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองน้อยลง"
“ทุนนิยมปกติคงไม่มีอะไรขัดข้อง แต่ทุนนิยมที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง มีวิธีการไหนที่เราจะกีดกัน ลดมันลงมา นี่เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญยังไม่ค่อยได้พูดกัน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเริ่มคิดเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต่างมาแล้วสาบสูญ แต่นายทุนคงทนตลอดไป เขาสามารถทำงานกับรัฐบาลใหม่ได้คล่องแคล่ว ทำงานกับรัฐบาลที่เปลี่ยนระบอบได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ผมยังนึกไม่ออกว่าจะไปเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องนี้อย่างไร”
“ผม สปช. หรือกรรมาธิการยกร่างฯ คงไม่ใช่ผู้วิเศษ ต้องอาศัยผู้มีความรู้มาช่วยกัน กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีความใฝ่ฝันอยากเห็นประเทศก้าวหน้า ฉะนั้น พวกเราไม่ใช่แค่รับฟัง แต่ยังต้องการความช่วยเหลือจากพวกท่าน และอยากให้ช่วยกันคิดด้วยว่าจะสร้างการเมืองอย่างไรไม่ให้ทำลายกัน แต่ผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ใช่สามัคคีกันจนไม่รู้ถูกรู้ผิด” ดร.เอนก สรุปทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพจาก:www.tuhpp.net