ปธ.มูลนิธิสืบฯ หวั่น EHIA เขื่อนแม่วงก์ผ่าน 19 พ.ย.นี้ จี้คชก.พิจารณาให้รอบคอบก่อน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรหวังคชก.พิจารณาEHIAเขื่อนแม่วงก์อย่างรอบครอบ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ชี้ตัดสินใจไม่ละเอียดอาจต้องเสียใจภายหลัง
กรณีวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) จะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ขณะที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่า หากโครงการนี้ผ่านการพิจาณาอาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศน์
นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงกระบวนการพิจารณา EHIA เขื่อนแม่วงก์ที่กำลังจะมีการพิจารณาในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ มูลนิธิสืบฯ ยังยืนยันในหลักการสำคัญว่า อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่มีความคุ้มค่าทั้งในส่วนของระบบนิเวศน์ทั้งผืนป่าหรือแม้การฟื้นฟูสภาพผืนป่าที่จะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน
"การที่จะแก้ปัญหาน้ำแล้งให้คนในพื้นที่ข้างนอกป่านั้นในช่วงเวลาหนึ่งปีทางมูลนิธิได้ส่งคนไปทำงานควบคู่กับคณะกรรมการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่งตั้งขึ้นมา และลงพื้นที่อย่างละเอียด ซึ่งจะต้องแยกว่าพื้นที่ไหนเดือดร้อนมาก เดือดร้อนน้อย หรือเดือดร้อนปานกลางจากการจะมีเขื่อนหรือไม่มีเขื่อน เราพยายามที่จะช่วยกันนำเสนอทางเลือกอื่นๆ "
ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า หวังว่าประเทศไทยน่าจะมีทางเลือกอื่นมากกว่าที่จะสร้างเขื่อนใหญ่ในป่า เพราะป่าเป็นเขื่อนธรรมชาติที่ยั่งยืนและถาวรที่สุด รวมทั้งยังหวังอีกว่า คณะกรรมการคชก.ที่กำลังจะพิจารณาEHIAเขื่อนแม่วงก์จะพิจารณาอย่างรอบครอบเนื่องจากมีความเห็นจากหลายส่วนพบประเด็นข้อบกพร่องในรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์
"ส่วนตัวแล้วยังเห็นแม่วงก์คือคุณค่าของพื้นที่ป่าใหญ่ที่ดีที่สุดในประเทศและเอเชียอาคเนย์ ฟังจากข้อมูลและจากการติดตามมาตลอดกว่า 20 ปี ยังหวังว่า ฟันเฟืองเล็กๆขบวนใหญ่จะช่วยรักษาผืนป่า และภาวนาขอให้ยุติการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะไม่มีความคุ้มค่า พร้อมกับหวังว่า คชก.จะได้พิจารณาEHIAฉบับนี้อย่างรอบครอบที่สุด"
ขณะที่ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลในสภาพปัจจุบันของทางกรมนั้นมีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างจากบริษัทที่ปรึกษาEHIA เก็บ เนื่องจากทางกรมจะต้องทำอย่างละเอียดเพื่อที่จะให้สาธารณชนเข้าใจกระบวนการต่างๆของป่าไม้ สัตว์ป่าว่า มีคุณค่าและมีความสำคัญในระดับไหน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง การศึกษาทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นไม่สามารถที่สำรวจเพียงฤดูกาลเดียวแล้วเจอสัตว์ป่าได้ครบ จำเป็นต้องทำทั้งปี ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาอาจจะมีเวลาไม่มากพอหรืออาจจะไปในช่วงที่ไม่เหมาะสมจึงทำให้ได้ข้อมูลที่แตกต่างกัน
"การศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนแม่วงก์ หากศึกษาไม่ละเอียดวันหนึ่งเราอาจจะเสียใจที่ไปทำลายทรัพยากรที่มีคุณค่าในระดับสากลก็เป็นได้"
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้ศึกษาอย่างเป็นระบบและเต็มพื้นที่ตั้งแต่ปี 2536 รวมถึงล่าสุดปี 2555 ตลอด20ปี พบว่า มีการฟื้นตัวของสภาพป่าได้เป็นอย่างดี ป่าถูกรบกวนน้อยมาก อีกทั้งยังมีจำนวนของสัตว์ป่าแต่ละประเภทเพิ่มขึ้น
"ข้อมูลดังกล่าวกรมฯ จะได้นำไปเสนอว่า หากสร้างเขื่อนจะส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศน์อย่างไร รวมทั้งพื้นที่ปลูกป่าทดแทนก็เป็นพื้นที่ที่มีราษฎรอาศัยหมดแล้ว การจะสร้างให้ได้ป่าเหมือนเดิมก็คงเป็นเรื่องยาก"ดร.ทรงธรรม กล่าว และเห็นว่า มีทางเลือกอื่นหรือไม่ หากไม่มีการสร้างเขื่อน เราจะลดปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งอย่างไร ซึ่งสังคมก็ต้องการคำตอบนี้เช่นกัน
ขอบคุณภาพจากเฟชบุ๊กชื่อ เลขา นักอ่าน