หมอประเวศ หนุนสุโขทัย ประกาศเป็นจังหวัดแห่งการอ่าน
นักวิชาการด้านการศึกษา ชี้ชัดคุณภาพเด็กไทยต้องแก้ที่ “การอ่าน” ถึงเวลาปฏิรูปประเทศสู่โลกแห่งการอ่าน ย้ำทำไม่ได้ สาระอื่นก็ไปไม่เป็น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 33 จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่เป็นฐานตอนที่ 3 โดยนำ 2 กรณีศึกษา จ.สุโขทัย ยกระดับคุณภาพการศึกษา จบ ป.3 อ่านออกเขียนได้ทุกคน และจ.ลำปาง นำยุทธศาสตร์ใช้ ร.ร.ขนาดกลางลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพสถานศึกษา ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานในที่ประชุม กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยคนอ่านหนังสือน้อยมากทำให้ไม่เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อน เด็กดูทีวี ฟังวิทยุก็ไม่ช่วย เพราะข้อมูลผ่านไปค่อนข้างเร็ว ดังนั้น การอ่านจะช่วยให้เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนได้ง่ายกว่า ต้องปฏิรูปตัวเองไปสู่การเป็นสังคมแห่งการอ่านให้ได้
"มีผลงานวิจัยพบว่าการอ่านเป็นการพัฒนาสมองทำให้สมองดี โดยสมองส่วนหน้าเกี่ยวกับสติปัญญาและศีลธรรม เพราะศีลธรรมเป็นเรื่องของการมีเหตุผล ส่วนสมองส่วนหลังเป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน การเต้นของหัวใจ การต่อสู้เพื่ออยู่รอด ซึ่งสังคมไทยมักใช้สมองส่วนหลังมากเป็นสังคมของการใช้อำนาจ ดังนั้น ถ้าใช้อำนาจมากเด็กจะคิดต่อสู้ จึงต้องให้เด็กได้คิดริเริ่มและทำเองเป็น" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว พร้อมสนับสนุน จ.สุโขทัย ประกาศเป็นจังหวัดแห่งการอ่าน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ส่วน จ.ลำปาง เลือกประเด็นความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งเชิงอำนาจ สังคม เศรษฐกิจ และรายได้ ดังนั้น ต้องเลือกให้ชัดเจนว่าจะทำความเหลื่อมล้ำเรื่องอะไร ซึ่งขอเสนอประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ง่ายคือรายได้ของผู้ปกครองเป็นผล กระทบตั้งแต่ในครรภ์ ถ้าพ่อแม่ยากจนลูกที่อยู่ในครรภ์จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขาดการเจริญเติบ โต รวมทั้ง ระบบข้อมูลซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้ารู้ข้อมูลจะทำให้รู้เรื่องที่จะต้อง การดำเนินการได้ง่ายขึ้น
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า การตั้งโจทย์เรื่องการอ่านอยากให้มองบริบทเชิงจังหวัดให้กว้างขึ้น ซึ่งการส่งเสริมการอ่านควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย และบูรณาการการทำงานทั้งฟากสาธารณสุขและการศึกษา รวมทั้ง ต้องเพิ่มคุณภาพในเรื่องที่อ่านด้วยว่า "อ่านอะไร" เพราะส่งผลต่อความคิดของเด็ก เช่น วัฒนธรรม อาชีพ ซึ่งจะปูพื้นฐานความคิดให้แก่เด็กไปพร้อมๆ กัน
"กรณีลำปาง ดึงพลังของ ร.ร.ทุกสังกัดได้จะสามารถเชื่อมโยงใน 2 ประเด็น คือ 1.เชื่อมโยงระหว่างระบบ เช่น ปฐมวัย-ประถม, ประถม-มัธยม และมัธยม-อาชีวะ และ 2.เชื่อมโยงภายในระบบเดียวกัน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะทำให้เกิดคุณภาพ ได้ขนาด ร.ร.ที่เหมาะสม สามารถผลิตและพัฒนาครูได้ตามที่ต้องการ"
ขณะที่ ศ.กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “อดีตเพื่ออนาคต : การศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ” ในงาน “วันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ครั้งที่ 26 และในวาระครบ 40 ปีบัณฑิตวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทรงแสดงความห่วงใยเรื่องการอ่านมาก โดย จ.สุโขทัยทำได้ตรงเป็นการสนองพระราชดำรัสอย่างดียิ่ง และยังได้ตรัสถึงความเหลื่อมล้ำของเด็กชนบทและเด็กในเมือง
โจทย์การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยภายใน 3-4 เดือนนี้ ศ.กิตติคุณสุมน กล่าวว่า เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้คุณภาพของผู้เรียนโดยเน้น 3 เรื่อง คือ เพิ่มพูนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เน้นทักษะในศตวรรษที่ 21 และการเป็นพลเมืองดี อย่างไรก็ตามการจัดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคือมุ่งเน้นการศึกษาเชิงพื้นที่ ฉะนั้น ในวันนี้ตรงเป้าหมายมาก จุดเด่นของ จ.สุโขทัย คือการประกาศนโยบายเดียวกับพ่อขุนรามคำแหงก็คือรบให้ชนะ เพราะการจะรบชนะได้ต้องอ่านออกเขียนได้ เพื่อเปิดประตูสู่การเรียนรู้ที่ชัดเจน
"ส่วน จ.ลำปางเป็นการทำงานร่วมกัน และต้องทำงานดิ่งเดี่ยวไปที่คุณภาพการศึกษาของเด็ก ทั้งนี้ ตัวอย่างของอำเภอเสริมงาม จ.ลำปาง ที่ปฏิรูปโครงสร้างการศึกษา โดยสอนเรื่องความพอเพียง เพศวิถี เงินทองของมีค่า คนดีศรีเมืองเสริม ทำให้เห็นตัวอย่างของการปฏิรูปหลักสูตรที่ชัดเจนเรื่องการศึกษาในพื้นที่"
นายมานพ ษมาวิมล ผอ.สพป.สุโขทัย เขต 2 กล่าวถึมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทย จ.สุโขทัย ดังนี้ 1)เน้นการอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ชั้น ป.1 2)จัดทำบัญชีคำพื้นฐาน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสอนให้ครูและนักเรียนได้ทำงานร่วมกัน 3)ให้ ร.ร.ปรับการสอนการอ่าน เป็นแจกลูกประสมคำ และให้อิสระ ร.ร.คิดวิธีสอนหรือนวัตกรรมใหม่ๆ 4)สนับสนุนให้ ร.ร.จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านแก่นักเรียน 5)ประเมินการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนทุกคน ทุกชั้นเรียน ภาคเรียนละ1ครั้ง 6)มอบรางวัลให้แก่ ร.ร.ที่มีนักเรียนอ่านออกเขียนได้ 100% ในทุกชั้นเรียน และใช้ผลการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนเป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณาความดีความชอบ การย้ายครู ผู้บริหาร และ 7)จัดการนิเทศติดตามแบบกัลยาณมิตร
“สุโขทัยเป็นจังหวัดที่พ่อขุนรามคำแหงฯ ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา ฉะนั้น เด็กสุโขทัย จบ ป.3 ต้องอ่านออกเขียนได้ทั้งจังหวัดทุกคน เพราะเครื่องมือการแสวงหาความรู้ของเด็กที่ดีคือการอ่าน ถ้าเด็กอ่านภาษาไทยไม่ได้ ก็ไม่สามารถเรียนวิชาอื่นได้ โดยจะยกคุณภาพไม่ให้น้อยหน้าจังหวัดอื่นๆ และนำข้อมูลเข้าไปในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้ทุกพื้นที่นำไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้ง จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพและมาตรฐานตามที่หลักสูตรกำหนด โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงามและความรับผิดชอบต่อสังคม” นายมานพ กล่าว
ผศ.จำลอง คำบุญชู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ลำปาง กล่าวว่า โครงการวิจัยพัฒนากลไกข้อมูลกระบวนการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำคุณภาพสถานศึกษาขนาดกลาง มีจุดเริ่มต้นจากเวทีพูดคุยของเครือข่ายครู ร.ร. มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม จนพบปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาใน จ.ลำปาง และพัฒนาสู่ยุทธศาสตร์การทำงานกับ ร.ร.ขนาดกลาง โดยเอาพื้นที่ลำปางเป็นตัวตั้งไม่แบ่งแยกสังกัดประสานกลไกภาคีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงานบนฐานข้อมูลไม่ใช่การทำตามกระแสความรู้สึก โดยเน้นการทำข้อมูล 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพ ประสิทธิภาพ และโอกาส