เบื้องหลังคำสั่งปรับอัตราชดใช้เครื่องราชฯใหม่ทะลุ3ล.-แห่ซื้อขายผ่านเว็บเพียบ
เจาะเบื้องหลัง!คำสั่งปรับอัตราชดใช้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่ส่งคืนใหม่ ปี 58-60 แพงสุดหลายล้าน เหตุจำนวนผู้ได้รับพระราชมีแนวโน้มสูงขึ้น สวนทางยอดผู้ส่งคืนลดลงทุกปี หวั่นเป็นภาระงบประมาณจัดสร้างใหม่ เผยหนังสือลับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชงครม.ยุคยิ่งลักษณ์ แก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 56 -พบแห่ประกาศซื้อขายผ่านเว็บไซต์เพียบ
จากกรณีราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การกำหนดราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2560 เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญราชการต้องส่งคืนชั้นรองเมื่อได้รับพระราชทานชั้นตราสูงขึ้น หรือผู้รับมรดกของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่วายชนม์ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือในกรณีที่ทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนแล้วแต่กรณี โดยมีการระบุอัตราชดใช้เครื่องราช "ปฐมจุลจอมเกล้า" ไว้สูงที่สุด ในอัตรา 3.07 ล้านบาท ส่วนเหรียญราชการชายแดน กำหนดอัตราไว้ต่ำสุด 682 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้นั้น
(อ่านประกอบ : ปรับราคาชดใช้เครื่องราชที่ไม่ส่งคืนใหม่ "ปฐมจุลจอมเกล้า"สูงสุด3.07 ล้าน)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในในโลกออนไลน์ พบว่า ในเว็บไซต์ www.vibulphan.com ได้มีคนเข้าไปตั้งกระทู้สอบถามและประกาศขายเครื่องราชฯ และมีผู้เข้ามาโพสต์ข้อความในกระทู้นี้จำนวนมาก ทั้งประกาศหาซื้อและประกาศขายเครื่องราชฯ นับตั้งแต่ปี 2551 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
โดยบางรายระบุว่า เป็นทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงนำมาประกาศขาย บางรายระบุว่า รับข้าราชการอยู่ แต่ไม่ได้รับพระราชทาน จึงต้องการหาซื้อเครื่องราชฯ มาใส่เอง บางรายก็ต้องการซื้อไปให้เป็นของขวัญกับเพื่อน เป็นต้น http://www.vibulphan.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=367376
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จำนวนการส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยังไม่ครบถ้วน และมีแนวโน้มลดลง ส่งผลทำให้เครื่องราชฯ ที่จะนำมาซ่อมปรับปรุงให้มีสภาพใหม่ และใช้หมุนเวียนสำหรับการพระราชทานในปีต่อๆ ไปจำนวนลดลง
ประกอบกับในปัจจุบันมีผู้ได้รับการเสนอขอพระราชการเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นภาระอย่างยิ่งในด้านงบประมาณของแผ่นดินที่จะต้องนำมาใช้จัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทดแทนจำนวนที่ยังไม่ได้รับคืนเพื่อให้พร้อมที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับพระราชการแก้ผู้ที่ได้รับพระราชทาน
"การปรับราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมายให้มีราคาสูงขึ้นดังกล่าว นอกจากจะเป็นการบังคับให้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญราชการต้องส่งคืนชั้นรองเมื่อได้รับพระราชทานชั้นตราสูงขึ้น หรือผู้รับมรดกของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่วายชนม์ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือในกรณีที่ทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนแล้วแต่กรณี ยังจะเป็นการช่วยลดภาระด้านงบประมาณในการจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นใหม่ด้วย"
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมครม.รับทราบเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 โดยเสนอให้พิจารณาเห็นชอบให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมและกระทรวงพิจารณาเร่งรัดการส่งคืนเครื่องราชชั้นรองตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2556 เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการครม.เสนอ
ส่วนกรณีการตรวจพบข้อมูลการประกาศขายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในเว็บไซต์ นั้น แหล่งข่าวระบุว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง และในส่วนของทายาทแม้จะมีการนำเครื่องราชฯ ไปขายต่อแล้ว แต่ก็ยังต้องรับผิดชอบชดใช้เครื่องราชฯ อยู่ดี
(ดูเอกสารประกอบ)