การันตีรธน.เสร็จแน่ ก.ย.58-กมธ.ยกร่างฯ ถก 4 วันรวดเฟ้นสรุป 2 แนวทาง
“เลิศรัตน์” โฆษก กมธ.ยกร่างฯ การันตี รธน.ใหม่ เสร็จแน่ ก.ย. 58 เผยมี 2 กรอบแนวทางร่างใหม่ “ซ่อม-สร้าง” เชื่อเสียงข้างมากเลือกทำใหม่จากศูนย์ ชี้แก้ปัญหาขัดแย้งได้ดีกว่า เตรียมถก 4 วันรวดหาข้อสรุป โยนทำประชามติให้ถาม "นายกฯ"
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่าง มีการหารือกันมากว่าจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใน 2 ลักษณะ ตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (ประธาน กมธ.ยกร่างฯ) ระบุคือ เป็นการปะผุ หรือนำรถเก่ามาซ่อม เปลี่ยนเครื่องยนต์ พ่นสี หมายความว่า หยิบรัฐธรรมนูญ ปี 2540-2550 มาไล่เรียงดูทีละหมวด หากหมวดไหนไม่มีปัญหา ก็ปล่อยผ่าน หากหมวดไหนมีปัญหาก็นำมาแก้ไข หรืออีกรูปแบบคือ เริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ไล่เรียงหมวดใหม่ เช่น หมวกพระมหากษัตริย์ หมวดประชาชน-พลเมือง หมวดศาล-การปกครอง หมวดรัฐสภา-คณะรัฐมนตรีต่าง ๆ และหมวดการตรวจสอบ-องค์กรตรวจสอบ เป็นต้น
“ปัญหาในปัจจุบันคือความขัดแย้ง ไม่ปรองดองของพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องหลักว่าจะทำอย่างไรให้ลดสิ่งเหล่านั้นลงได้ นอกจากนี้จะต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมือง เพิ่มสิทธิประชาชน นโยบายบริหารประเทศ และที่สำคัญคือต้องขจัด-ป้องกันทุจริตประพฤติมิชอบ และจะต้องคำนึงถึง 10 กลไกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 ด้วย” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญแบบรื้อโครงสร้างเก่า หรือร่างใหม่จากศูนย์ แบบไหนดีกว่ากัน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีการคุยกันในประเด็นนี้ โดยแบบแรกคือการยึดติดกับกรอบเก่าตามรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 และเอามาไล่เรียงว่ามาตราไหนดีหรือไม่ดี ส่วนแบบที่สองคือนำประเด็นปัญหาที่มีอยู่นำมาเรียบเรียงความสำคัญ ซึ่งอาจแตกต่างกับแบบแรกไม่มากนัก แต่วิธีคิดอาจจะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ กว่าเทียบกับของเก่า
“ที่ประชุมมองเห็นสาระสำคัญในการร่างใหม่จากศูนย์มากกว่า เพราะเป็นการหยิบประเด็นปัญหาบ้านเมืองในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมามารวมกันเพื่อแก้ไข” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าจะมีการเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็นร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะมีการไปพบปะกับพรรคการเมือง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ต้อง 2-3 ครั้ง ถามเขาว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน รวมไปถึงเรื่องการได้มาของคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. เป็นต้น ทั้งนี้เรายินดีรับฟังจากทุกพรรค และทุกกลุ่มการเมือง
ส่วนที่ว่าจะต้องมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีมองว่า การทำประชามติอาจทำให้กระบวนการเลือกตั้งช้าลง เพราะต้องเตรียมความพร้อมไปอีก 4-5 เดือน แต่เชื่อว่ารัฐบาลก็อยากให้ทำประชามติ เพราะเป็นเสมือนยันต์กันผีแบบรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใครแตะต้องไม่ได้
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 กมธ.ยกร่างฯ จะประชุมครึ่งวัน ส่วนวันที่ 12-14 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเต็มวัน และหากยังไม่มีข้อสรุปก็จะประชุมในวันที่ 15-16 พฤศจิกายนต่ออีกด้วย ทั้งนี้คาดว่า ในการประชุมดังกล่าวจะสามารถออกแบบกรอบแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ พร้อมยืนยันว่าในเดือนกันยายน 2558 รัฐธรรมนูญเสร็จอย่างแน่นอน
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ใน กมธ.ยกร่างฯ ว่า ภายหลังการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องดำเนินการงานได้ตามกรอบเวลาที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้ รองประธาน 6 คน คือ 1.นายกระแส ชนะวงศ์ 2.นายมานิจ สุขสมจิตร 3.นายสุจิต บุญบงการ 4.นางนรีวรรณ จินตกานนท์ 5.นายปรีชา วัชราภัย 6.นายชูชัย ศุภวงศ์
แต่งตั้งโฆษก 5 คน คือ 1.นายคำนูณ สิทธิสมาน 2.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว 3.นายวุฒิสาร ตันไชย 4.นายประกรณ์ ปรียากร 5.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ เลขานุการ 2 คน คือ 1.นายดิสทัต โหตระกิตย์ 2.นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ และที่ปรึกษา 4 คน คือ มีนายประสพสุข บุญเดช เป็นประธาน มีนายจรูญ อินทจาร เป็นรองประธาน และมี พล.อ.เลิศรัตน์ เป็นที่ปรึกษา