เบื้องหลังสนช.ข้างมากรับถอด“นิคม-ขุนค้อน” ฝ่ายหนุนงัดกม.สู้-ทหารเงียบ
เบื้องหลัง! ที่ประชุม สนช. มีมติ 87:75 เสียง ไฟเขียวถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” หลังถกลับ 2 ชม. เสียงแตก 2 ฝ่าย "กล้านรงค์-สมคิด-สมชาย-มณเฑียร" ยันไม่จำเป็นต้องพิจารณารับ-ไม่รับ งัดกม.ป.ป.ช.ชงถอดได้เลย ด้าน "ธานี" ยันไม่มีสิทธิ์เพราะ รธน.โดนฉีกไปแล้ว สนช.ท็อปบู๊ต เงียบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระสำคัญพิจารณารายงานและสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช. ที่จะพิจารณาถอดถอน
ล่าสุดหลังประชุมกันนานกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติ 87 ต่อ 75 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ที่ประชุมมีอำนาจพิจารณาถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ตามสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากผู้ประชุมทั้งหมด 177 คน
แหล่งข่าวจาก สนช. รายหนึ่ง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ระหว่างการประชุมนั้น มี สนช. ไม่กี่รายลุกขึ้นอภิปราย โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นในเรื่องกฎหมาย โดยฝ่ายที่สนับสนุนว่า สนช. มีอำนาจพิจารณาถอดถอน เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายสมชาย แสวงการ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายวัลลัภ ตังคณานุรักษ์ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ นายตวง อันทะไชย นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน นายมณเฑียร บุญตัน เป็นต้น โดยระบุว่า สนช. มีอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 58 ขณะที่อีกฝ่าย เช่น นายธานี อ่อนละเอียด นายชัชวาลย์ สุขสมจิต พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ระบุว่า ไม่มีอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้ว ส่วน สนช.สายทหารนั้น ไม่มีใครลุกขึ้นอภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 10.20 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า ภายหลังการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยเป็นการประชุมลับ ซึ่งมีการงดใช้ข้อบังคับการประชุมข้อที่ 149 และข้อที่ 150 และได้แจกสำเนารายงานการไต่สวนให้สมาชิกศึกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ดังนั้นในวันนี้จะพิจารณาในเรื่องเดียวคือ สนช. มีอำนาจถอดถอนตามข้อบังคับหรือไม่
ต่อมานายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการ สนช. (วิป สนช.) เสนอให้มีการประชุมลับ โดยระบุว่า ในการประชุมอาจมีการแสดงความเห็นพาดพิงบุคคลอื่นผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งเอกสิทธิ์ไม่คุ้มครอง จึงจำเป็นต้องมีการประชุมลับ
อย่างไรก็ดี มี สนช. หลายคนแสดงความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการประชุมลับ เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ในฐานะวิป สนช. ขออภิปราย ไม่เห็นด้วยกับการประชุมลับ ระบุว่า ในการประชุมคราวทีแล้วมีการประชุมลับไปแล้วครั้งหนึ่ง และมีการคุยกันลงลึกหมดเปลือกในฐานความผิดแล้ว แต่ที่ประชุมยังสงสัยคือเรื่องเอกสารสำนวน 4 พันหน้า แต่ขณะนี้สมาชิกได้อ่านสำนวน 4 พันหน้า เอกสารลับ 2 ฉบับ และเอกสารคัดค้านหมดแล้ว
“ทั้งหมดพูดกันหมดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นความลับ มีสาระเดียวคือรับหรือไม่รับ และเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหินรองทอง สังคมกำลังจับตาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ สมมติประชุมลับ 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติรับหรือไม่รับ มันคืออะไร ก็อยากให้เปิดเผย ให้สาธารณชนได้รับรู้ และชั่งใจ” นายวัลลภ กล่าว
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า ในวันนี้ถึงเวลาพูดประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งไม่มีส่วนในการพาดพิงบุคคลที่ 3 และประเด็นสำคัญก็คือ หากประชุมโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าทางสภามีประเด็นอย่างไร และอำนาจในการที่เราจะตกลงกันในวันนี้ เราจะมีอำนาจถอดถอนคดีนายนิคม และนายสมศักดิ์ หรือไม่อย่างไร ภายใต้ข้อกฎหมายที่มี เชื่อว่าความคิดเห็นมันต่างกันระหว่างสองขั้ว มีผู้เห็นว่าถอดถอนได้ และผู้ทีเห็นว่าไม่มีอำนาจถอดถอน เหตุผลตรงนี้สามารถสื่อสารไปถึงประชาชนที่เขารับฟังอยู่แล้ว
“ประธานต้องทราบว่า ประเด็นวันนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ท้ายสุดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรประชุมโดยเปิดเผย ไม่ใช่ประชุมลับ ถ้าเรากำหนดกติกาไว้ชัดเจน เราอภิปรายเฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย ไม่มีอะไรต้องกังวลในเรื่องของกฎหมาย” นพ.เจตน์
ทั้งนี้ ภายหลังประธานฯ ขอมติให้รับรองว่าเป็นการประชุมลับ ถ้าไม่เห็นด้วยไม่ต้องออกเสียง ปรากฎว่ามีผู้รับรองจำนวน 96 เสียง ไม่รับรอง 1 เสียง ส่วนที่เหลือไม่ออกเสียง ทำให้จำนวนเสียงที่เห็นว่าควรเปิดเผยมีจำนวน 76 เสียง จากผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 172 คน