'ดร.นิพนธ์' พบข้าวเสื่อมพุ่ง 85% คาดขาดทุนใหม่ บักโกรกเฉียดล้านล้านบาท
‘ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร’ ชี้ผลตรวจสต๊อกข้าว ต.ค. 57 พบข้าวเสื่อมคุณภาพ 85% ขาดทุนสูง 6.6 แสนล้านบาท ส่อเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนล้านบาท หากขายหมดภายใน 10 ปี แนะบริจาคบางส่วนให้กองทุนอาหารโลก หวังลดภาระบริหารจัดการ ดีกว่านำผลิตเอทานอลเสี่ยงขาดทุน
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนา ‘สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร...บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว’ ณ โรงแรมเอเทรียม ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวปี 2554-57 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาท เพื่อซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน ซึ่งหากตีราคาสต๊อกข้าวในเดือนเมษายน 2557 จะขาดทุน 5.4 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 7.5 แสนล้านบาท ถ้าขายข้าวหมดใน 10 ปี
ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจสต๊อกข้าวในเดือนตุลาคม 2557 พบปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน 85% ส่งผลให้เกิดมูลค่าขาดทุนใหม่ 6.6 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 9.6 แสนล้านบาท ถ้าขายข้าวหมดใน 10 ปี โดยนับรวมดอกเบี้ยเรียบร้อยแล้ว ทำให้โอกาสความสูญเสียจากโครงการจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะขณะนี้ยังมีข้าวหลงเหลือในสต๊อกราว 17 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการระบายออก เนื่องจากอาจกระทบต่อราคาข้าวในประเทศ
“ยิ่งเราระบายข้าวช้า ยิ่งขาดทุนหนัก เพราะรัฐต้องสูญเสียค่าบริหารจัดการ ประกอบกับข้าวในโกดังก็เสื่อมคุณภาพ จึงควรบริจาคข้าวครึ่งหนึ่งให้โครงการกองทุนอาหารโลก เพื่อให้สิทธิเข้ามาบริหารจัดการโกดัง” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าไม่เห็นด้วยกับการนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาผลิตเอทานอล เพราะในทางปฏิบัติจะส่งผลให้เกิดพลังงานติดลบและเสี่ยงต่อการขาดทุนได้
สำหรับการช่วยเหลือชาวนานั้น รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุว่า ต้องพุ่งเป้าไปยังกลุ่มชาวนายากจนจริง ๆ แต่นโยบายการแจกเงินอุดหนุนราคาผลผลิตนั้นไม่ถือเป็นแนวทางช่วยเหลือ เพราะเงินส่วนใหญ่ไม่ตกถึงมือชาวนากลุ่มดังกล่าว ฉะนั้นจำเป็นต้องพัฒนาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่นเดียวกับการแจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 15 ไร่ ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่แก้ปัญหาแน่นอน
“โครงการรับจำนำข้าวกลายเป็นของทิ่มแทงชาวนาในวันนี้ หลายคนมีความเดือดร้อน จึงมิได้เป็นประโยชน์อย่างที่คิดไว้ เพราะประเทศได้รับความเสียหาย ฉะนั้นนับเป็นบทเรียนราคาแพง” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังมีข้อเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลว่า ต้องจัดระเบียบเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดแบบโปร่งใสใหม่ โดยเร่งรัดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชีและบัญชีรวมโครงการเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกไตรมาส รวมถึงตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวในโกดังไม่ได้มาตรฐาน เพื่อหาสาเหตุ และให้หน่วยงานรัฐสืบสวนหาผู้รับผิดชอบ อีกทั้ง คสช.ต้องทำตัวอย่างที่ดีจัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกร และทุกครั้งที่จะแทรกแซงตลาดที่ใช้เงินนอกงบประมาณจะต้องขอความเห็นชอบจาก สนช. ด้วย
“ผมไม่ได้ทำหน้าที่ในการสืบสวนการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เพียงแต่ประมาณการมูลค่าการทุจริต และตรวจสอบหลักฐานเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงเท่านั้น ทั้งนี้ นักวิชาการไม่มีหน้าที่ในการสืบสวนทางคดีทุจริตหรือหาคนผิด ซึ่งเรื่องนั้นถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาล” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว
ด้านนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า นักการเมืองต้องการผูกขาดการเป็นรัฐบาล จึงต้องเลือกวิธีที่สามารถเอาชนะได้ทุกครั้ง ดังนั้นโครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดขึ้น โดยมองเฉพาะเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเศรษฐศาสตร์ ฉะนั้นจึงต้องหาวิธีการป้องกันผูกขาดจากรัฐบาล มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้
สำหรับการระบายข้าวในสต๊อกนั้น นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า มีวิธีเดียวให้รวดเร็วที่สุด คือ ปล่อยให้กลไกตลาดโลกบีบให้ข้าวไทยมีราคาปรับตัวลดลงมาจนคู่แข่งสู้เราไม่ได้ รวมถึงการช่วยเหลือชาวนายากจน ต้องส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต เพื่อความยั่งยืน ส่วนการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ แต่อย่าลืมว่าคนจนมีหลายกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะชาวนา
ขณะที่รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวล้วนทำลายกลไกตลาดอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะตลาดในชนบท ซึ่งที่ผ่านมา รัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดรายใหญ่ของตลาดภายในประเทศ มีปริมาณข้าวในสต๊อกมหาศาล ทว่า ไม่สามารถระบายข้าวออกได้ เพราะมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง
“การสร้างความอยู่รอดแก่ชาวนาต้องสร้างความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึง เพื่อสามารถนำไปสู่การแข่งขันที่มีต้นทุนการผลิตลดลง เช่น การชลประทาน การปฏิรูปที่ดิน การให้สินเชื่อ เป็นต้น” นักวิชาการ กล่าว และว่า นอกจากนี้ต้องสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในกลไกตลาด และรัฐบาลที่ดีต้องส่งเสริมการแข่งขันเกิดขึ้น ไม่ใช่ผูกขาดตลาดเสียเอง ทั้งนี้ สำหรับชาวนาเดือดร้อนควรนำมาตรการกลไกราคาเข้ามาดูแลเฉพาะ นั่นคือ การรับจำนำข้าวยุ้งฉาง .
อ่านประกอบ:เปิดผลศึกษา ทีดีอาร์ไอ ฉบับสมบูรณ์ "คอร์รัปชั่น"โครงการรับจำนำข้าว!